หัวใจเต้นระริก เต้นผิดจังหวะ เสี่ยงถึงชีวิต
06 พฤศจิกายน 2567
หัวใจเต้นระริก (Atrial Fibrillation / AF) คืออะไร?
หัวใจเต้นระริก (Atrial Fibrillation / AF) หรือบางทีเรียกสั้น ๆ ว่า "เอเอฟ" เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหนึ่งที่พบได้มากขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ เป็นลักษณะการสั่นระริกหรือสั่นพลิ้ว ทำให้หัวใจห้องบนเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอได้ จึงส่งให้หัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่างเต้นไม่ประสานงานกันอีกต่อไป ซึ่งอาจทำให้เลือดไหลผ่านหัวใจได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิมเลือด ส่งผลให้มีภาวะความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน เกิดหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมองตามมา
หัวใจเต้นระริกมักจะพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ พบมากถึง 60 ล้านคนทั่วโลก โดยพบ 10% ในผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี เมื่อเป็นหัวใจเต้นระริก อาจจะมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองตามมาถึง 5 เท่า
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นหัวใจเต้นระริก ?
อาการของหัวใจเต้นระริก
- มีอาการใจสั่น ใจสะดุด หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
- รู้สึกเจ็บหรือแน่นหน้าอก หายใจลำบาก
- เหนื่อยง่ายขึ้นขณะออกกำลังกาย
- มีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ
- เป็นลมหมดสติ
มาดูกันว่าหัวใจเต้นระริกมีกี่ชนิด
ชนิดหัวใจเต้นระริก
- Paroxysmal Atrial Fibrillation คือ หัวใจห้องบนเต้นพลิ้วที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถหายไปได้เอง หรือหายได้จากการรักษาภายใน 7 วัน ส่วนใหญ่มักจะหายไปได้เอง ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก
- Persistent Atrial Fibrillation คือ หัวใจห้องบนเต้นพลิ้วที่เกิดขึ้นและเป็นมานานกว่า 7 วัน แต่น้อยกว่า 1 ปี
- Permanent Atrial Fibrillation คือ หัวใจห้องบนเต้นพลิ้วที่เกิดขึ้นและเป็นมานาน ที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเต้นเป็นปกติได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ หรือ แพทย์และผู้ป่วยตัดสินใจว่าจะไม่พยายามรักษาให้กลับมาเต้นเป็นปกติ หากแต่จะคุมอัตราการเต้นหัวใจเท่านั้น
อะไรบ้างที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นหัวใจเต้นระริก ?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจเต้นระริก
1. ปัจจัยที่แก้ไขได้
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไทรอยด์เป็นพิษ
- โรคอ้วน
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ความเครียด
2. ปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้
- อายุที่มากขึ้น
- มีประวัติครอบครัวเป็นหัวใจระริกตั้งแต่อายุยังน้อย
- มีโรคร่วมของโรคหัวใจ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ
หัวใจเต้นระริกสามารถรักษาและป้องกันได้หรือไม่ ?
การรักษาและการป้องกันหัวใจเต้นระริก
- ค้นหาสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับการหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าว
- ควบคุมหัวใจให้เต้นเป็นจังหวะ (Rhythm Control) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเป็นครั้งคราว ( Paroxysmal Atrial Fibrillation, Persistent Atrial Fibrillation) สามารถรักษาด้วยการรับประทานยา การใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้า เพื่อให้หัวใจเต้นเป็นจังหวะปกติ (Cardioversion) การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation)
- ควบคุมหัวใจอัตราการเต้นของหัวใจ (Rate Control) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นถาวร (Permanent Atrial Fibrillation) หากมีอาการรู้สึกใจสั่นน้อย สามารถรักษาด้วยการรับประทานยา
- การป้องกันการเกิดลิ่มเลือด การรับประทานยาละลายลิ่มเลือด อาจจะเป็นกลุ่ม Warfarin / NOAC
ที่มา : World Heart Federation
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์หัวใจ
สถานที่
อาคาร 4 ชั้น 5
เวลาทำการ
09:00 - 17:00 น.
เบอร์ติดต่อ
055-90-9000 ต่อ 520101, 520102