เอชไพโลไร (H. Pylori) แบคทีเรียตัวร้ายทำลายกระเพาะอาหาร สาเหตุสู่มะเร็ง
เอชไพโลไร (H. Pylori)
เชื้อเอชไพโลไรยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ฉะนั้นหากตรวจพบเชื้อเอชไพโลไร ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์เฉพาะทาง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะหากเราได้รับเชื้อตัวนี้ในระยะยาว อาการปวดท้อง อาจไม่ใช่ แค่ปวดท้องธรรมดา อาจนำไปสู่โรคมะเร็งได้
เอชไพโลไร (H. Pylori) - เฮลิโคแบคเตอร์ไฟโลไร (Helicobacter Pylori) เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหารแต่ไม่ก่ออันตราย เว้นแต่บางกรณีที่อาจมีการติดเชื้อแบบเฉียบพลันหรือในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในที่สุด ปกติแบคทีเรียหลายชนิดไม่สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารได้ เนื่องจากถูกกรดทำลาย แต่เชื้อเอชไพโลไรมีคุณสมบัติพิเศษสามารถเกาะเกี่ยวตัวเองไว้กับเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร รวมถึงสามารถผลิตด่างขึ้นป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกกรดทำลาย และแทรกอยู่ระหว่างช่องเซลล์ของผิวเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้เชื้อนี้สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะนานนับ 10 ปี โดยไม่แสดงอาการใด ๆ
การติดเชื้อเอชไพโลไรในระยะแรก อาจจะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบและปวดท้องธรรมดา แต่ที่สำคัญคือ ถ้าปวดท้องเป็นระยะเวลานาน รักษาแบบกินยากระเพาะอาหารเพื่อลดกรด หรือยาลดอาการกระเพาะอาหารอักเสบ มาประมาณ 8 อาทิตย์ แล้วอาการเหล่านั้นยังไม่ดีขึ้น ไม่หายไป อาจจะต้องตรวจหาเชื้อเอชไพโลไรเพื่อรักษาอย่างถูกต้อง
อาการของการติดเชื้อเอชไพโลไร
การติดเชื้อเอชไพโลไร ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใด ๆ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการระคายเคืองหรือการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร จนทำให้มีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ปวดหรือแสบร้อนที่ท้องส่วนบนบริเวณเหนือสะดือ และปวดรุนแรงเมื่อท้องว่าง หรือหลังรับประทานอาหาร
- ท้องอืด เรอบ่อย
- คลื่นไส้
- อาเจียนเป็นเลือด หรืออาเจียนมีสีน้ำตาลคล้ำ
- ไม่อยากอาหาร
- อุจจาระเป็นเลือด ลักษณะของอุจจาระเป็นสีดำคล้ายยางมะตอย มีกลิ่นเหม็นรุนแรง
- น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีปัญหาในการกลืน
สาเหตุของการติดเชื้อเอชไพโลไร
สาเหตุของการติดเชื้อเอชไพโลไรนั้นยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการสัมผัสเชื้อและนำเข้าปากโดยไม่รู้ตัว รวมถึงการบริโภคอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อ การติดเชื้อเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในเด็ก และจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นหากอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไพโลไรหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่แออัดที่มีสุขาภิบาลไม่ดี เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อเอชไพโลไรจะไปอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลงจนไม่สามารถทนต่อกรดในกระเพาะอาหารที่มีความเข้มข้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้ การกินเชื้อเอชไพโลไรเข้าไปมีหลายแบบ ตั้งแต่อาหารปนเปื้อนเชื้อแล้วเรากินเข้าไป หรือติดจากเนื้อเยื่อคัดหลั่ง สารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนแล้วกินเข้าไป เช่น การคลอดลูกแล้วลูกได้รับเชื้อจากแม่ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง แต่สาเหตุหลักคือ ได้รับเชื้อโดยการกินเข้าไป ซึ่งตอบไม่ได้ว่าอาหารเหล่านั้นติดมากน้อยแค่ไหน
การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไพโลไร
ผู้ที่มีอาการหรือสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อเอชไพโลไร จนเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการอย่างแน่ชัด โดยแพทย์จะซักประวัติสุขภาพของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว รวมถึงยาหรืออาหารเสริมที่ใช้อยู่ และหากมีอาการของโรคแผลในกระเพาะอาหาร แพทย์อาจสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน เป็นต้น เนื่องจากยาดังกล่าวอาจส่งผลต่อกระเพาะอาหารได้
นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น ตรวจดูว่ามีอาการท้องอืด อาการกดเจ็บที่ท้อง หรืออาการปวดท้องลักษณะใด ๆ หรือไม่ และอาจใช้หูฟังตรวจดูการทำงานภายในช่องท้องร่วมด้วย ซึ่งหากสันนิษฐานว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อเอชไพโลไร แพทย์จะสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
- การตรวจเลือด เป็นการตรวจหาสารภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อ วิธีนี้จำเป็นต้องใช้ผลจากการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ วินิจฉัยร่วมด้วย
- การตรวจลมหายใจ ผู้ป่วยต้องรับประทานสารที่มีส่วนประกอบของโมเลกุลคาร์บอน จากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยหายใจใส่ถุง แล้วนำตัวอย่างลมหายใจไปตรวจหาร่องรอยของการติดเชื้อที่ออกมากับแอมโมเนียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- การตรวจอุจจาระ เป็นการเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อตรวจหาสารภูมิต้านทานหรือแอนติเจน ซึ่งบ่งบอกถึงการติดเชื้อเอชไพโลไร
- การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร แพทย์จะสอดอุปกรณ์ที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่บริเวณส่วนปลายเข้าไปทางปากเพื่อตรวจดูความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ในบางกรณีอาจมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในช่องท้องเพื่อนำมาตรวจหาเชื้อร่วมด้วย วิธีนี้แพทย์ไม่ค่อยแนะนำให้ใช้ เนื่องจากเสี่ยงทำให้เกิดการบาดเจ็บมากกว่าวิธีอื่น ๆ แต่มักใช้ในการวินิจฉัยแผลที่เกิดจากการติดเชื้อเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารอื่น ๆ ที่อาจตามมา
การตรวจหาเชื้อเอชไพโลไรจากลมหายใจ (Urea Breath Test : UBT)
เป็นการตรวจหาเชื้อเอชไพโลไร โดยการวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (C-14 UBT) ที่เกิดจากปฏิกิริยาของเชื้อเอชไพโลไร ที่มีเอนไซม์ Urease (ยูเรีย) เข้าสู่กระแสเลือดและถูกขับออกมาที่ปอดและขับออกสู่ภายนอกโดยลมหายใจ
ข้อดีของการตรวจ UBT
- ไม่มีความเจ็บปวดและไม่ใช้สารรังสี
- ปลอดภัยต่อเด็กและสตรีมีครรภ์
- ประเมินการเจริญและการแพร่ของแบคทีเรียในกระเพาะอาหารได้
- ใช้ติดตามผลการรักษาได้อย่างแม่นยำ
- มีความจำเพาะต่อการวัด (Specificity) 95 – 100%
- มีความไวต่อการวัด (Sensitivity) 95 – 98% และภายหลังการตรวจผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและปฏิบัติกิจกรรมได้ตามปกติ
ข้อปฏิบัติก่อนการตรวจ
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต และยาปฏิชีวนะ เป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อไม่ให้ยาส่งผลกระทบต่อการตรวจ เมื่อได้ผลการตรวจ แล้วแพทย์จะนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยและวางแผนในการรักษาต่อไป
การรักษาการติดเชื้อเอชไพโลไร
การติดเชื้อเอชไพโลไร รักษาให้หายได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยในเบื้องต้นผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาหรือแบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ วันละ 5-6 มื้อ เพื่อไม่ให้ท้องว่างติดต่อกันเป็นเวลานาน และช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง รวมทั้งต้องใช้ยาปฏิชีวนะช่วยกำจัดเชื้อเอชไพโลไร ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะรักษาร่วมกันอย่างน้อย 2-3 ชนิด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อมากขึ้น โดยจะให้ใช้ยาเป็นเวลาเพียง 7-14 วัน ยาปฏิชีวนะที่มักนำมาใช้รักษา ได้แก่ ยาเมโทรนิดาโซล ยาอะม็อกซี่ซิลลิน และยาคลาริโทรมัยซิน
นอกจากนี้ แพทย์จะสั่งหรือแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดกรดร่วมด้วย เพื่อยับยั้งการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารซึ่งส่งผลให้แผลในกระเพาะอาหารหายช้าลง ยาที่มักใช้ ได้แก่ ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารกลุ่มพีพีไอ ในระหว่างการรักษาผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาที่มีส่วนประกอบของแอสไพริน และยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เพราะอาจยิ่งทำให้เกิดการระคายเคืองและเสี่ยงมีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ หากเกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก แพทย์จะให้ผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทันทีเพื่อความปลอดภัยหลังจากการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยกลับมาตรวจหาเชื้อซ้ำภายในเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์เพื่อติดตามผลการรักษา หากพบว่ายังมีการติดเชื้อเอชไพโลไรอยู่ ผู้ป่วยจะต้องรักษาซ้ำโดยเปลี่ยนยา เพราะมีความเป็นไปได้ว่าเชื้ออาจดื้อยา
ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อเอชไพโลไร
การติดเชื้อเอชไพโลไร ส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี แผลดังกล่าวอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมา เช่น
• ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร แผลในกระเพาะอาหารอาจส่งผลให้มีเลือดออกภายในระบบทางเดินอาหาร และอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง
• กระเพาะอาหารทะลุ แผลจากการติดเชื้อในกระเพาะอาหารที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดการทะลุของกระเพาะอาหารตามมา
• กระเพาะอาหารอุดตัน ทำให้อาหารไม่สามารถเคลื่อนออกจากกระเพาะอาหารได้
• การติดเชื้อที่เยื่อบุช่องท้อง เชื้อเอชไพโลไร อาจแพร่กระจายจากกระเพาะอาหารไปยังเยื่อบุช่องท้องและทำให้เกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
• โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร การติดเชื้อเอชไพโลไร เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่เกิดขึ้นได้น้อย เนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดอาการเรื้อรัง
การป้องกันการติดเชื้อเอชไพโลไร
การติดเชื้อเอชไพโลไร จนเกิดแผลในกระเพาะอาหารนั้นป้องกันได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อและลดพฤติกรรมที่อาจกระตุ้นให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ดังนี้
- ล้างมือ ให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำและก่อนจัดเตรียมหรือรับประทานอาหาร
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด รวมทั้งอาหารที่ปรุงไม่สุก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจากมือผู้อื่น หากไม่แน่ใจว่าบุคคลนั้นได้ล้างมือก่อนหยิบจับอาหารหรือไม่
- ดูแลอุปกรณ์การทำอาหารและภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอ
- ลดการรับประทานอาหารที่มีรสจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้เสี่ยงเกิดแผลในกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้อาการของการติดเชื้อยิ่งแย่ลง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพรินและยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หากมีอาการปวดหรืออักเสบ เพราะยาดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหาร
- หากมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร หรือเป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง รวมถึงการตรวจหาเชื้อเอชไพโลไรด้วย
- ผ่อนคลายจากความเครียด เพราะความเครียดจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการอักเสบในร่างกายได้
- หากมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหลังเข้ารับการทำรังสีบำบัด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ที่มา : กรมอนามัย , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์มะเร็งพิษณุเวช ฮอไรซัน
สถานที่
เวลาทำการ
เบอร์ติดต่อ
055-90-9000 ต่อ 520101, 520102