มะเร็งกระเพาะอาหาร
25 มิถุนายน 2567
รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกในปี ค.ศ. 2022
พบผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารรายใหม่ จำนวน 968,365 คน
และพบผู้เสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหารถึง 659,805 คน
ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 5 จากสถิติมะเร็งทั้งหมดในทุกระบบ
สถิติมะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach Cancer)ในประเทศไทย จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2559 พบผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารรายใหม่ราว 3.6 ราย ในเพศชาย และ 2.5 ราย ในเพศหญิง ต่อประชากรแสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.72 ของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารรายใหม่ พบมากขึ้นชัดเจนในช่วงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร?
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่
- การติดเชื้อเอช.ไพโลไร (H.pylori หรือ Helicobacter pylori) การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ในกระเพาะอาหารจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุกระเพาะอาหาร จนกระทั่งเกิดการฝ่อของเยื่อบุและเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าความชุกของการติดเชื้อชนิดนี้ในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 40-50 แต่ความชุกของมะเร็งกระเพาะอาหารกลับต่ำ ไม่สอดคล้องกัน คาดว่าน่าจะมีผลจากปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น ชนิดหรือสายพันธุ์ของเชื้อ ปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อ เป็นต้น
- การรับประทานอาหารที่มีวัตถุกันเสียเป็นประจำ โซเดียมไนเตรทและโซเดียมไนไตรท์เมื่อผ่านปฏิกิริยาในร่างกายจะเปลี่ยนเป็น “สารไนโตรซามีน” ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง มักพบในอาหารประเภทหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารปิ้งย่าง และอาหารจำพวกเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น หมูยอ แฮม ไส้กรอก กุนเชียง แหนม เป็นต้น หากรับประทานอาหารกลุ่มนี้เป็นประจำก็ทำให้เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
- มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
- เป็นโรคที่มีความผิดปกติของสารพันธุกรรม (พบน้อยมาก)
อาการมะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหารในระยะเริ่มแรก อาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ นอกจากอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร คลื่นไส้เล็กน้อย ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลด บางรายอาจมีอาการปวดแสบร้อนที่บริเวณหน้าอก ซึ่งอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง แต่ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาหตุและหาลักษณะอาการแสดงอื่น ๆ ของมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มเติม
เมื่อมะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามมากขึ้น อาจมีเลือดปนในอุจจาระ ถ่ายอุจจาระสีดำ ปวดท้อง อาเจียน น้ำหนักลดลงอย่างมากโดยไม่ทราบสาเหตุ หากมีการลุกลามของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ และเยื่อบุผนังในช่องท้อง อาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง และท้องบวมจากน้ำในช่องท้องร่วมด้วย
การวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร
การตรวจเพื่อการวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร สามารถทำได้หลายวิธี
- การซักประวัติและอาการ ปัจจัยเสี่ยง พฤติกรรม การเจ็บป่วยในอดีต รวมถึงประวัติการรักษาที่ผ่านมา การตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงตรวจดูลักษณะก้อนหรือสิ่งที่มีลักษณะผิดปกติในช่องท้อง ตรวจหาต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) การทำงานของตับ การทำงานของไต ตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ เป็นต้น
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Esophago Gastro Duodenoscopy, EGD) วิธีนี้มีความถูกต้องแม่นยำสูง และแม่นยำกว่าการเอกซเรย์กลืนแป้ง ทำได้ไม่ยุ่งยาก ซึ่งจะเห็นความผิดปกติได้ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อหาบริเวณที่ผิดปกติ และตัดชิ้นเนื้อเยื่อผิวกระเพาะที่สงสัยไปตรวจหาเซลล์มะเร็งมะเร็งกระเพาะอาหาร และสามารถตรวจการติดเชื้อแบคทีเรียเอช.ไพโลไร (H. Pylori) ได้ด้วย
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของช่องท้อง (CT Scan) จะทำให้เห็นลักษณะพยาธิสภาพของมะเร็งกระเพาะอาหารชัดเจนขึ้น สามารถดูการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้อง เช่น ตับ และเยื่อบุช่องท้องได้ด้วย
- นอกจากนี้ยังมีการตรวจอื่น ๆ เพื่อหาว่ามะเร็งกระเพาะอาหารมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ หรือไม่ เช่น เอกซเรย์ปอด การตรวจสแกนกระดูก (Bone scan / Scintigraphy) หรืออาจตรวจด้วย PET/CT Scan ซึ่งเป็นการตรวจทั่วทั้งร่างกาย สามารถเห็นพยาธิสภาพที่กระเพาะอาหารได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งกระเพาะอาหารไปได้พร้อมกัน
การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
การรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การให้ยาเคมี รังสีรักษา และ การผ่าตัด ซึ่งจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งกระเพาะอาหาร ตำแหน่งของมะเร็งว่าอยู่ส่วนไหนของกระเพาะอาหาร ความลึกของมะเร็ง การกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบ ๆ กระเพาะอาหาร และการกระจายไปอวัยวะที่ห่างจากกระเพาะอาหาร สภาพร่างกายของผู้ป่วย
โดยหลักการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารที่สำคัญจะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตที่นานสุด มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นถ้าหากตรวจพบมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะต้นที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย การรักษาจะหวังผลเพื่อให้หายขาดจากโรค หากเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะสุดท้ายจะเป็นการรักษาเพื่อการประคับประคองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต
ระยะของมะเร็งของกระเพาะอาหาร
-
มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะต้นหรือระยะที่ 1
มะเร็งกระเพาะอาหารที่กินลึกเพียงชั้นผิว ไม่ลึกถึงกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร ซึ่งมะเร็งกระเพาะอาหารระยะนี้พบน้อยในประเทศไทย เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่มีอาการ และประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความรู้ไม่เพียงพอเกี่ยวกับการตรวจคัดกรอง ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารเป็น ๆ หาย ๆ หรือรักษาโรคกระเพาะอาหารเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะเริ่มแรก มีโอกาสกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองต่ำ ดังนั้นการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารในระยะนี้สามารถทำได้โดยการตัดเพียงชิ้นเนื้อมะเร็งที่ผิวกระเพาะอาหาร โดยการส่องกล้องจึงเพียงพอและสามารถหวังผลหายขาดได้
-
มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 2 และ 3
หรือมะเร็งระยะลุกลาม คือ ระยะที่มะเร็งกระเพาะอาหารมีความลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือผิวด้านนอกของกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหารที่มีความลึกระดับนี้จะมีโอกาสกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น การรักษาหลักคือ การผ่าตัดกระเพาะอาหารเอาส่วนที่เป็นมะเร็ง และต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอบกระเพาะอาหารออก ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด
-
มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 4
หรือมะเร็งระยะสุดท้าย คือ มะเร็งกระเพาะอาหารที่มีการกระจายออกไปยังอวัยวะที่ห่างจากกระเพาะ หรือไม่ได้ติดต่อกับกระเพาะอาหารโดยตรง การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารในระยะนี้ แม้จะตัดกระเพาะอาหาร เลาะต่อมน้ำเหลือง ให้ยาเคมีบำบัด ก็มักไม่ได้เพิ่มความยืนยาวของอายุผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารแต่อย่างใด แนวโน้มจึงเป็นการรักษาเพื่อการประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต
การตรวจติดตามหลังการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
การตรวจติดตามผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารอย่างต่อเนื่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร และเพื่อประเมินผลการรักษา โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมทั้งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรังสีวิทยาเป็นระยะ ๆ เพื่อตัดสินใจว่าจะให้การรักษาเดิมต่อไป หยุดการรักษา หรือเปลี่ยนการรักษาไปเป็นชนิดอื่น นอกจากนี้การตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอยังช่วยให้สามารถตรวจพบการเป็นซ้ำของมะเร็งกระเพาะอาหารได้อย่างรวดเร็ว
คำแนะนำสำหรับประชาชน
เนื่องจากมะเร็งกระเพาะอาหาร ยังไม่มีแนวทางการตรวจคัดกรองที่ชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ไม่รับประทานอาหารกลุ่มที่มีสารก่อมะเร็งดังกล่าวไว้ข้างต้นเป็นประจำ และคอยหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการของสัญญาณเตือนที่น่าสงสัยมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสม
หากมีคำถาม ข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมะเร็งกระเพาะอาหาร โปรดปรึกษาแพทย์
ที่มา : สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ , ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กรมการแพทย์ , คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล