‘ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ภัยเงียบที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นทันที โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย ดังนั้น การทำความรู้จักตัวโรค สาเหตุและปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง เพื่อวางแผนสุขภาพ ป้องกันภาวะดังกล่าว เป็นเรื่องที่ควรแนะนำ
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดจากอะไร ?
โดยมาก มักเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเกิดมาจากการเสื่อมของหลอดเลือดหัวใจเมื่อมีอายุมากขึ้นร่วมกับการสะสมของไขมันและหินปูนจนเกิดการอุดตันหลอดเลือด และหากเรามีปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคเกี่ยวกับไขมัน หรือมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ก็จะยิ่งทำให้มีภาวะเหล่านี้เร็วขึ้น โดยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มักมีสาเหตุจาก 2 ภาวะ ได้แก่:
- ภาวะกล้ามเนื้อขาดเลือดแบบฉับพลัน มีอาการทันที เกิดจากการแตกของตะกรันในหลอดเลือด นำไปสู่การอุดตันเฉียบพลันในหลอดเลือด ทำให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงโดยทันที เกิดภาวะแทรกซ้อนหยุดเต้นเฉียบพลัน
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบรุนแรง นำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ภาวะทั้งสองข้างต้นอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการกู้ชีพ (CPR) และ รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือฉีดสีสวนรักษาขยายเส้นเลือดหัวใจ อย่างทันท่วงที
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ป้องกันได้อย่างไร ?
การดูแลสุขภาพโดยทั่วไป เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการตรวจสุขภาพ ถือเป็นวิธีการป้องกันภาวะดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจสุขภาพ ควรตรวจเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยกลางคน และมีปัจจัยเสี่ยงร่วม ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และสูบบุหรี่ และผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ หรือเคยมีภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ควรตรวจพิเศษทางหัวใจร่วมด้วย เช่น การตรวจคลื่นหัวใจ (EKG) การตรวจอัลตร้าซาวน์หัวใจ (Echocardiogram) หรือการตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการวิ่งสายพาน (EST)
หมั่นสังเกตหากพบอาการ ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที
หากมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ทุกวินาทีมีค่า ระยะเวลาการเข้าถึงการรักษาของแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งถึงเร็วยิ่งมีโอกาสรอดสูงขึ้น โดยเราควรรู้อาการแสดงเริ่มต้นของสาเหตุโรค หากมีอาการแน่น คล้ายคนมานั่งทับกลางอก ปวดร้าวไปแขนซ้าย เหงื่อออก ใจสั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ควรเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษาสาเหตุ ก่อนลุกลามจนนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์หัวใจ
สถานที่
อาคาร 4 ชั้น 5
เวลาทำการ
09:00 - 17:00 น.
เบอร์ติดต่อ
055-90-9000 ต่อ 520101, 520102