มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Cancer)
28 พฤษภาคม 2567
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Cancer) มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงเกือบร้อยละ 20 ซึ่งการตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในกระเพาะปัสสาวะที่มีการเจริญเติบโตแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างรวดเร็วและมากผิดปกติ จนกลายเป็นก้อนเนื้องอก และก้อนเนื้องอกนี้สามารถเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจเต็มกระเพาะปัสสาวะ ลุกลามไปยังอวัยวะและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ หากตรวจพบโรคได้เร็วก็จะมีโอกาสหายได้สูง อย่างไรก็ตาม แม้จะตรวจพบได้ในระยะแรกและรักษาหายแล้ว แต่มะเร็งกระเพาะปัสสาวะก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูงเช่นกัน
- ในประเทศไทย มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นมะเร็งที่พบมาก 1 ใน 10 อันดับแรก ของมะเร็งที่พบมากในเพศชาย โดยพบมากในช่วงอายุ 50-70 ปี
- ข้อมูลล่าสุดจากการรวบรวมของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Cancer in Thailand Vo. 10 2016-2018) พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 2,497 คน เฉลี่ยวันละ 7 คน คิดเป็นร้อยละ 2 ของมะเร็งทั้งหมด โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 3 ถึง 4 เท่า
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงเกือบร้อยละ 20 ซึ่งการตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้
อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะในระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง อาจตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น พบเม็ดเลือดในปัสสาวะ อาการที่พบได้ในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คือ
- ปัสสาวะเป็นเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 75-90% จะมาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะเป็นเลือด (มักเป็นสีแดงอ่อนหรือสีโค้ก ) มักจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย หรือบางรายอาจมีเพียงอาการเลือดหยดออกมาตอนปัสสาวะสุด
- บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (พบได้ประมาณ 20%) คือ ปัสสาวะบ่อย แสบ หรือขัดเนื่องจากเลือดที่ออกมาจับเป็นลิ่มในกระเพาะปัสสาวะ
- ในระยะลุกลาม ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจคลำได้ก้อนที่บริเวณหัวหน่าว และมีอาการแสดง
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ที่อาจเกิดขึ้น
- ภาวะซีด
- เกิดโรคไตเรื้อรัง หรือภาวะไตวาย ซึ่งเกิดจากการลุกลามของโรคมะเร็งไปอุดตันท่อไต
- เกิดอาการท้องผูก เมื่อก้อนมะเร็งไปกดเบียดทับลำไส้ใหญ่
- คลำต่อมน้ำเหลืองได้ที่ขาหนีบหรือเหนือไหปลาร้า เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
- มีอาการไอ หายใจลำบาก เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่ปอด
- มีตับโต จากการกระจายไปยังตับ
- ปวดหลัง เมื่อโรคแพร่กระจายไปยังกระดูกสันหลัง
- มีอาการปวดกระดูก เมื่อโรคแพร่กระจายไปที่กระดูก
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- การสูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่เป็นประจำ เพราะควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและขับถ่ายออกทางกระเพาะปัสสาวะได้ การสูบบุหรี่จึงทำให้กระเพาะปัสสาวะสัมผัสกับสารก่อมะเร็งโดยตรง
- การสัมผัสสารเคมี จากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารเคมีที่มีส่วนประกอบของสารอะนีลีน (aniline) หรือไฮโดรคาร์บอน ที่มักใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยาง สิ่งทอ เครื่องหนัง สี สายไฟฟ้า พลาสติก และสิ่งพิมพ์ เช่น สีย้อมผ้า สีย้อมผม อุตสาหกรรมเสื้อผ้า รวมถึงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของขันฑสกร อาหารหมักดองหรืออาหารแปรรูป ได้รับอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนสารหนู (สารอาร์ซีนิค Arsenic) เป็นเวลานาน
- การติดเชื้อหรือระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะแบบเรื้อรัง และการอักสบเนื่องจากก้อนนิ่ว หรือการติดเชื้อพยาธิบางชนิด จะกระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุในทางเดินปัสสาวะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งขึ้น และผู้ที่เคยรักษามะเร็งอย่างอื่นด้วยวิธีการฉายแสงบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือการรักษาด้วยเคมีบำบัดก็เป็นสาเหตุชักนำให้เกิดโรคนี้ได้
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- การตรวจหาเซลล์มะเร็งในปัสสาวะ (Urine Cytology) เป็นการตรวจที่ค่อนข้างง่าย โดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะจากผู้ป่วย โดยตัวอย่างปัสสาวะควรเก็บจากการถ่ายปัสสาวะครั้งแรกในตอนเช้า การตรวจนี้มีความแม่นยำถึง 80% แต่มีความไว (Sensitivity หมายถึง ความสามารถในการตรวจพบโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคจริง) ค่อนข้างต่ำเพียง 16%
- การตรวจอัลตร้าซาวด์ระบบทางเดินปัสสาวะ (Ultrasound KUB ) เป็นการตรวจความผิดปกติของระบบปัสสาวะ ซึ่งประกอบด้วยไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เป็นการตรวจที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ สามารถตรวจหาตำแหน่ง ขนาด จำนวน และรูปร่างของเนื้องอก ซึ่งสามารถแยกชนิดได้ว่าเป็นมะเร็งชนิดลุกลามหรือไม่ลุกลาม และที่สำคัญที่สุด คือ การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็ง
- การตรวจเอกซเรย์ปอด (Chest X-Ray) เพื่อดูว่ามีการกระจายของมะเร็งไปยังปอดหรือไม่
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง (CT Abdomen) เป็นการตรวจเพื่อค้นหาการลุกลามของมะเร็งไปยังอวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลือง และตับ รวมทั้งเป็นการประเมินระยะของมะเร็ง เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสม
- การตรวจเอกซเรย์กระดูก (Bone Scan) เป็นการตรวจเพื่อดูว่า มีการกระจายของมะเร็งไปยังกระดูกหรือไม่ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการปวดกระดูก หรือมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ
สัญญาณเตือนมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- ปัสสาวะเป็นเลือด ถ้าเป็นรุนแรงอาจจะเป็นเลือดสด ๆ ถ้าไม่รุนแรงอาจมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ หรือมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นแต่ตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- มีอาการปวดขณะเบ่งปัสสาวะ โดยปวดบริเวณท้องน้อยหรือปลายท่อปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อยและมีความรู้สึกเหมือนจะปัสสาวะราดถ้าไปไม่ทัน บางครั้งปวดปัสสาวะแต่เวลาไปถ่ายกลับมีปัสสาวะออกเพียงเล็กน้อย หากมีอาการที่น่าสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
ระยะของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ระยะของโรคมีความสำคัญในการพิจารณาเลือกวิธีกรรักษาที่เหมาะสม โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มะเร็งจำกัดอยู่ในชั้นเยื่อบุผนังด้านในของกระเพาะปัสสาวะ
ระยะที่ 2 มะเร็งมีการลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ
ระยะที่ 3 มะเร็งมีการลุกลามไปยังชั้นไขมันรอบกระเพาะปัสสาวะ
ระยะที่ 4 มะเร็งมีการกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่น ๆ
แนวทางการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค รวมถึงสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์มักใช้หลายวิธีร่วมกันเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี
- การผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ โดยตัดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะออกได้หมด เพื่อทำการวินิจฉัยและเป็นการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะไม่ลุกลาม นอกจากนี้ยังมีการใส่ยาเคมีบำบัด หรือยาที่ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค หลังการตัดชิ้นเนื้ออีกด้วย
- การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะผ่านช่องท้อง ในมะเร็งระยะลุกลามไปถึงผนังกระเพาปัสสาวะและวัยวะข้างเคียง จะรักษาโดยการผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะพร้อมกับอวัยวะข้างเคียงส่วนที่มีโรคลุกลามออกไปจนหมด และนำเอาส่วนของลำไส้มาดัดแปลงเป็นกระเพาะปัสสาวะให้ใหม่ ผู้ป่วยจะยังคงถ่ายปัสสาวะได้ปกติทางท่อปัสสาวะ แต่บางรายจำเป็นต้องทำช่องทางถ่ายปัสสาวะออกทางปลายลำไส้ที่นำมาเปิดออกทางหน้าท้อง โดยขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสภาวะการทำงานของไตของผู้ป่วย
- เคมีบำบัด และ รังสีรักษา มักใช้รักษาหลังจากผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดแล้ว หรือใช้ร่วมกันในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
การป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ก่อนนอน เพราะจะมีการคั่งค้างของสารก่อมะเร็งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน
- หากปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมสี ยาง สายไฟฟ้า และพลาสติก ควรระวังขณะกินอาหารเพราะสีอาจติดมือปะปนอยู่ในอาหารได้ ฉะนั้นจึงควรล้างมือ ให้สะอาดก่อนกินอาหารทุกครั้ง
- เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะตั้งแต่ระยะยังไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อมีเลือดปนออกมาในปัสสาวะ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ
ที่มา : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ , สถานวิทยามะเร็งศิริราช , คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , หน่วยสารสนเทศมะเร็ง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล , สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
หากมีคำถาม ข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โปรดปรึกษาแพทย์