สูบบุหรี่ พฤติกรรมร้าย ทำลายหัวใจ
27 พฤษภาคม 2567
" ผู้สูบบุหรี่ เสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจวาย
มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ที่มีอายุเท่ากัน ถึง 5 เท่า "
สูบบุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ
ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2560 พบคนไทยที่สูบบุหรี่เสียชีวิต 72,656 ราย และค่าความสูญเสียจากการตายก่อนวัย 131,073 ล้าน จากการสูบบุหรี่
ข้อมูลจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) ปี 2560 พบว่า คนไทยที่สูบบุหรี่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง 11,666 รายต่อปี
จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2557 พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ยังคงเพิ่มสูงมากขึ้นในแต่ละปี และผู้ที่สูบบุหรี่โดยเฉลี่ยตายก่อนวัย คนละ 17.8 ปี และก่อนตายแต่ละคนต้องเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน โดยพบผู้ป่วยโรคหัวใจจากการสูบบุหรี่มากถึง 7,215 ราย
สูบบุหรี่กับโรคหัวใจ
องค์การอนามัยโลก ระบุว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นผลจากการสูบบุหรี่ และผู้หญิงสูบบุหรี่ที่ได้รับยาคุมกำเนิด จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ มากกว่าสตรีทั่วไปถึงเกือบ 40 เท่า
โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยส่วนใหญ่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่สำคัญ ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเสียชีวิตจากหัวใจวาย ในอายุประมาณ 30-40 ปี ซึ่งสูงกว่าผู้ไม่สูบถึง 5 เท่า สารพิษในควันบุหรี่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยทำให้เกิดคราบเกาะภายในหลอดเลือด ส่งผลให้รูหลอดเลือดค่อย ๆ ตีบลง จนเกิดการตีบตันของเส้นเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง จึงทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือโรคหัวใจขาดเลือดได้ เมื่อหลอดเลือดตีบจนมีผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ จะเกิดอาการจุกเสียด เจ็บหน้าอกและถึงขั้นหัวใจวายได้ในที่สุด
สารพิษในบุหรี่ ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ควันบุหรี่เป็นผลผลิตของสารที่เกิดจากการเผาไหม้นิโคตินและอัลคาลอยด์ และสารในควันบุหรี่หลายชนิดยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตัวอย่างเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเรื้อรัง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
สารพิษในควันบุหรี่ ทำให้เลือดมีความหนืดเพิ่มขึ้น เกล็ดเลือดเกาะตัวกันง่ายขึ้น ทำให้เกิดอันตรายต่อผนังหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยมีความผิดปกติหลายอย่างร่วมกันในการทำงานของหลอดเลือดที่ผิดปกติ มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด นำไปสู่โรคผนังหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของไขมัน ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL และไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่มีการลดลงของคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ซึ่งส่งผลให้เกิดผนังหลอดเลือดแดงเสื่อมและผนังหลอดเลือดแดงแข็งตามมา นอกจากนี้ ยังกระตุ้นการทำงานของเกล็ดเลือดทำให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และการเสียชีวิตแบบกะทันหัน บุหรี่ยังทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระจำนวนมากที่เป็นสาเหตุของการอักสบและแข็งตัวของหลอดเลือด โดยเฉพาะ
- สารนิโคติน ที่ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายตีบแคบ เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ และก๊าชคาร์บอนมอนอกไซด์ที่มีในควันบุหรี่ ทำให้เม็ดเลือดจับออกชิเจนได้น้อยลง นิโคติน เป็นตัวการทำให้เกิดการเสพติดในบุหรี่ เป็นปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หลอดเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจหดเกร็งตัว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง
- คาร์บอนมอนอกไซด์ จะเข้าไปจับตัวกับเม็ดเลือดแดงซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนน้อยลง ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างพอเพียง ส่งผลให้หัวใจขาดออกซิเจน เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้
บุหรี่มือสอง เสี่ยงโรคหัวใจ
- ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่เข้าไปจากคนรอบข้าง เรียกว่า เป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่ากับผู้ที่สูบบุหรี่
- หยุดสูบบุหรี่ ลดเสี่ยงได้ แต่ต้องรอสักพัก
- เมื่อหยุดสูบบุหรี่แล้ว จะลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตามผลของบุหรี่และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จะยังคงอยู่ต่อไปอีกประมาณ 2-3 ปี
- สูบบุหรี่วันละมวน ก็เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
- จากการศึกษาความเสี่ยงโรคหัวใจของผู้สูบบุหรี่วันละ 1 มวน , 5 มวน หรือ 20 มวน พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่วันละ 1 มวน มีอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและเส้นเลือดสมองตีบตัน คิดเป็นร้อยละ 40-50 ของการเกิดโรคในผู้ที่สูบบุหรี่วันละ 10 มวน สรุปว่าผลการศึกษานี้หักล้างความเชื่อผิด ๆ ของคนส่วนใหญ่ ที่คิดว่าการสูบบุหรี่เพียงวันละไม่กี่มวนมีอันตรายน้อย หรือไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เลิกสูบบุหรี่ที่ดีที่สุด ทำอย่างไร?
การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจที่ดีที่สุด คือ การเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งสามารถลดอัตราการเกิดโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตดังนี้
- เรียนรู้โทษของบุหรี่ และประโยชน์ของการหยุดสูบบุหรี่
- เตรียมตัว ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากผู้ที่สูบมานานจะเหมือนการติดยาเสพติด เพราะสารนิโคตินในบุหรี่เป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด
- เมื่อหยุดบุหรี่แล้ว อาจต้องให้สารทดแทนนิโคติน
- ถ้าเลิกบุหรี่ไม่ได้ผล ต้องใช้ยาเลิกบุหรี่ เพื่อให้หยุดบุหรี่ได้เร็ว ๆ
- ต้องได้รับกำลังใจจากผู้ใกล้ชิด เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- หากิจกรรมอื่น ๆ ทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้หมกมุ่นอยู่กับการสูบบุหรี่
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มมักมาคู่กับการสูบบุหรี่ รวมถึงการสูบบุหรี่หลังรับประทานอาหาร ก็อาจจะเปลี่ยนมาเคี้ยวหมากฝรั่งแทน
- เก็บบุหรี่ทิ้งให้หมด
- ถ้าหยุดแล้วยังกลับมาสูบใหม่ ก็ต้องพยายามใหม่ หยุดให้ได้
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานผัก และผลไม้เยอะๆ
- ให้รางวัลกับตัวเอง
- ให้นึกอยู่ตลอดว่า ถ้าหยุดสูบบุหรี่จะดีขึ้น ภายใน 20 นาที ประมาณ 2-3 อาทิตย์ ก็จะชะลอการเกิดโรคหัวใจ(Heart Attack) ถ้าหยุดได้ 3 ปี จะกลับมาปกติ รวมทั้งลดอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งด้วย
หากมีคำถาม ข้อสงสัย หรือต้องการเลิกบุหรี่ ปรึกษาแพทย์
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี , มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุทรี่ (มสบ.) , สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์มะเร็งพิษณุเวช ฮอไรซัน
สถานที่
เวลาทำการ
เบอร์ติดต่อ
055-90-9000 ต่อ 520101, 520102
ศูนย์หัวใจ
สถานที่
อาคาร 4 ชั้น 5
เวลาทำการ
09:00 - 17:00 น.
เบอร์ติดต่อ
055-90-9000 ต่อ 520101, 520102