โรคพาร์กินสัน อาการและการรักษา
โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) หรือรู้จักกันในชื่อโรค “สันนิบาต” เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ทำให้ผลิตสารสื่อประสาทโดพามีน ลดลง ซึ่งสารนี้มีความสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว โดยเฉลี่ยจำนวนประชากรไทยทั่วประเทศมีความชุกของโรคนี้ ร้อยละ 0.24 หรือประมาณ 770,000 ราย โรคนี้พบได้ในผู้สูงอายุบ่อยกว่าวัยหนุ่มสาว โดยมักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
สาเหตุของโรคพาร์กินสัน
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้การผลิตสารโดพามีนลดลง แต่จากการวิจัยที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่น หรือสาเหตุอื่น ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้เวียนศีรษะ แก้มึนงง ยาแก้อาเจียน ยารักษาความผิดปกติทางจิตบางชนิด ยากล่อมประสาท เป็นต้น นอกจากนั้นอาจเกิดจากความผิดปกติในสมองจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดสมองแตก สมองขาดออกชิเจน สมองอักเสบ เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว หรือมีประวัติการบาดเจ็บทางศีรษะบ่อยครั้ง เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน
- ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น การใช้สารฆ่าแมลงทางการเกษตร การสัมผัสโลหะหนักเป็นเวลานาน ๆ (แมงกานีส, ทองแดง) ไม่ว่าจะโดยการสูดดมหรือการรับประทาน โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรม
- ปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งสามารถพบได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมร้อยละ 10-15 และในครอบครัวมักจะมีประวัติผู้เป็นโรคพาร์กินสันตั้งแต่อายุยังน้อย
อาการโรคพาร์กินสัน
อาการผู้ป่วยพาร์กินสันที่เด่นชัด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
1. อาการที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว มี 4 อาการหลัก
- อาการสั่น (Tremor) มือสั่น ใช้มือไม่คล่องเหมือนเดิม เช่น กลัดกระดุม เปิดฝาขวดน้ำ เขียนหนังสือ หรืออาจมือสั่นขณะอยู่นิ่ง แต่เวลาเคลื่อนไหวอาการมือสั่นกลับหายไป
- อาการแข็งเกร็ง (Rigidity) กล้ามเนื้อเกร็ง แขนขาเกร็งแข็ง จนบางครั้งอาจปวดหรือเกิดตะคริว ใบหน้าแสดงออกได้น้อย ยิ้มน้อย หรือไม่แสดงออกทางสีหน้า ไม่ค่อยกระพริบตา พูดเสียงเบาลง กลืนไม่คล่องเหมือนเดิม อาจมีน้ำลายหรือสำลักง่ายขึ้น
- อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) หรือเคลื่อนไหวน้อย (Hypokinesia) เคลื่อนไหวร่างกายหรือทำอะไรได้ช้าลง ถ้าเป็นมากอาจเคลื่อนไหวไม่ได้เลย กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
- การทรงตัวที่ไม่มั่นคง (Postural instability) และการเดินผิดปกติ เดินลำบาก ก้าวขาไม่ค่อยออก ก้าวเท้าสั้น ๆ เดินซอยเท้าถี่ ศีรษะพุ่งไปข้างหน้าขณะเดิน หมุนกลับลำตัวลำบาก ล้มง่าย หลังค่อม
2. อาการที่ไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว
- ได้แก่ ท้องผูก จมูกไม่ได้กลิ่นหรือได้กลิ่นลดลง นอนละเมอ ความคิดช้าลง ความจำไม่ดี ซึมเศร้า นอนหลับไม่สนิท ฝัน นอนละเมอ ออกท่าทาง เขียนหนังสือตัวเล็กลง โดยอาการต่าง ๆ สามารถควบคุมได้ด้วยการรักษาทางยา แต่เมื่อป่วยเป็นระยะเวลานาน ๆ (Advanced Parkinson’s disease) อาจจะไม่ตอบสนองต่อยาอีก นอกจากนี้เมื่อรับการรักษาด้วยยาเป็นระยะเวลานาน ยังส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้
การดำเนินของโรคพาร์กินสัน แบ่งเป็น 3 ระยะ
- ระยะต้น ร่างกายตอบสนองต่อยาได้ดี ผู้ป่วยได้รับยาแล้วอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
- ระยะกลาง เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ยาออกฤทธิ์ได้สั้นลง จำเป็นต้องรับประทานยาบ่อยขึ้นจากเดิม มีอาการยุกยิก เคลื่อนไหวขยับไปมามากผิดปกติ ในบางช่วงเวลา
- ระยะท้าย ผู้ป่วยล้มบ่อย ไม่สามารถเดินเองได้ สมองเสื่อม เห็นภาพหลอนบ่อย
การตรวจวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน
ผู้ที่เป็นพาร์กินสันส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากอาจยังไม่ตระหนักถึงอาการของโรค เพราะคิดว่าเกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้เกิดผลเสียจากโรคตามมา เช่น หกล้ม กลืนอาหารลำบาก
การคัดกรองโรคพาร์กินสัน
การคัดกรองเบื้องต้นอย่างง่ายด้วยตัวเองจะสามารถทำให้ค้นพบอาการป่วยได้ โดยวิธีการตรวจเช็กอาการใน 11 ข้อดังต่อไปนี้ หากมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป ควรรีบปรึกษาแพทย์ หากมีอาการน้อยกว่า 5 ข้อ แนะนำให้ตรวจเช็กอาการเป็นระยะ
หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว แพทย์จะชักถามประวัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุ เช่น การรับยาต้านอาการจิตเวช การรับยาแก้อาเจียนคลื่นไส้ หรือแก้เวียนศีรษะ ประวัติอัมพฤกษ์อัมพาต เนื้องอกสมอง อาการโพรงสมองคั่งน้ำ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการพาร์กินสันแบบมีสาเหตุ จากนั้นจะหาข้อสนับสนุนและลักษณะอาการดำเนินโรคต่อไป
การรักษาโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสันไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ช่วยบรรเทาอาการไม่ให้แย่ลง โดยที่โรคพาร์กินสันจะมีความก้าวหน้าของโรคไปเรื่อย ๆ จากระดับเป็นเล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง เช่น จากที่เคยเดินได้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น หากเป็นพาร์กินสันในระยะแรกการช่วยบริหารร่างกายจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย
- การรักษาโดยการใช้ยา โดยมีเป้าหมายคือ เพิ่มการออกฤทธิ์ของสารโดพามีนในสมอง มีทั้งยารับประทานและการใช้แผ่นแปะ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสะดวกมากขึ้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติก่อนเป็นโรคพาร์กินสัน
- การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติที่สุด
- การออกกำลังกาย การเดิน เดินบนลู่วิ่ง ปั่นจักรยาน ออกกำลังกายในน้ำ ยกน้ำหนัก การฝึกนั่งยอง เต้นรำ โยคะ รำไทเก๊ก รำมวยจีน
- การทำกายภาพบำบัด ฝึกเดิน ฝึกการทรงตัว
- การฝึกพูด ฝึกกลืน
- การทำกิจกรรมบำบัด ฝึกอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยให้ใช้มือได้คล่อง
- การรักษาโดยการผ่าตัด โดยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า (Deep Brain Stimulation) และการผ่าตัดแบบทำลายโดยใช้คลื่นวิทยุ (Radiofrequency ablative surgery) มักใช้กับผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่หนักมาก หรือผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากการรับประทานยา
การดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน
พาร์กินสัน เป็นอาการป่วยที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเคลื่อนไหวลำบาก ที่สำคัญเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และต้องได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้างและสังคม การดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมจะเป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วยเอง
- คนรอบข้างควรช่วยผู้ป่วยในการบริหารร่างกาย ป้องกันการเกิดข้อยึดติด เช่น การแกว่งแขวน การเดินก้าวเท้ายาว ยกเท้าสูงขึ้น
- แนะนำการบริหารลูกตาด้วยการกลอกลูกตาไปมา การดูกีฬาที่มีการโต้ตอบไปมา เช่น เทนนิส ปิงปอง
- ในระยะแรก หากผู้ป่วยยังสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น การปั่นจักรยาน ก็อาจให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมดังกล่าวได้
- ระวังเรื่องอุบัติเหตุ ปัญหาการกลืน การพูด
- ควรรับประทานอาหารที่มีกากใย เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
- ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยและดูแลสภาพจิตใจอยู่เสมอ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
ที่มา : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ,โรงพยาบาลราชวิถี ,คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อาการ | ใช่ | ไม่ใช่ |
---|---|---|
1. มือหรือขาเคยมีอาการสั่น | ||
2. ลุกขึ้นจากเก้าอี้ลำบาก | ||
3. เดินก้าวเท้าสั้น ๆ และเดินซอยเท้าถี่ | ||
4. แขนแกว่งน้อยลงเวลาเดิน | ||
5. หลังคู้งอเวลาเดิน | ||
6. หมุนตัวกลับเวลาเดินได้ลำบาก | ||
7. เคยมีคนบอกว่าเสียงเบาลงกว่าเมื่อก่อน | ||
8. พลิกตัวได้ลำบากเวลานอน | ||
9. เขียนหนังสือช้าลงหรือเขียนหนังสือตัวเล็กลงกว่าเดิม | ||
10. ทำอะไรได้ช้าลงกว่าเมื่อไม่นานมานี้ เช่น อาบน้ำ แต่งตัว หวีผม | ||
11. รู้สึกว่ากลัดกระดุมหรือเปิดฝาขวดน้ำได้ลำบากกว่าเดิม | ||
รวม |
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกอายุรกรรม
สถานที่
อาคาร 4 ชั้น 1
เวลาทำการ
07:00 - 22:00 น.
เบอร์ติดต่อ
055-90-9000 ต่อ 520101 และ 520102