Header

ภาวะสมองเสื่อม

24 พฤศจิกายน 2566

พญ.พรสวรรค์ เพียรสวรรค์ พญ.พรสวรรค์ เพียรสวรรค์

ภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากระบบประสาทของสมองที่ค่อย ๆ เสื่อมลง ซึ่งผู้ป่วยไม่ได้มีเพียงแค่ความบกพร่องในด้านความทรงจำเท่านั้น แต่จะรวมถึงด้านอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ การใช้ความคิด การตัดสินใจ ความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ การเรียนรู้ การใช้ภาษา หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ภาวะสมองเสื่อม เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะมีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของประชากร และในทุก ๆ 5 ปี จะเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 2-5 ในเพศหญิงจะมีภาวะสมองเสื่อมมากกว่าเพศชาย และร้อยละ 5 พบว่า ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากกรรมพันธุ์

10 สัญญาณเตือน บ่งบอกความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม

  1. สูญเสียความจำระยะสั้น หลงลืมจนมีผลกระทบต่อการประกอบกิจวัตรประจำวัน ถามย้ำซ้ำไปมา ลืมว่าเมื่อครู่พูดอะไร ลืมนัดหมายสำคัญ
  2. ทำกิจกรรมที่เคยทำประจำไม่ได้ เช่น ลืมเครื่องปรุงอาหารที่เคยทำประจำ หรือลืมว่าต้องใส่อะไรก่อนหลัง
  3. มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น ใช้คำผิด พูดไม่รู้เรื่อง เรียงลำดับคำผิด คิดไม่ออกว่าใช้คำอะไร
  4. สับสนเรื่องเวลา สถานที่และทิศทาง หลงทิศทาง ทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ที่คุ้นเคย เช่น มักหลงทางกลับบ้านไม่ถูก หาทางเข้าห้องน้ำในบ้านไม่พบ
  5. ดุลยพินิจบกพร่อง วิจารณญาณไม่ดี เช่น ตัดสินใจและแยกความแตกต่างเรื่องระยะทาง สีสัญญาณไฟจราจรไม่ได้ จนอาจเป็นปัญหาด้านการขับรถ
  6. สติปัญญาด้อยลง คิดหรือทำเรื่องซับซ้อนไม่ได้ เช่น เคยคิดเลขได้ แต่กลับคิดเลขง่าย ๆ ไม่ได้
  7. วางของผิดที่ผิดทาง เช่น เอารีโมทโทรทัศน์ไปไว้ในตู้เย็น เก็บเสื้อผ้าในตู้กับข้าว
  8. อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว เช่น เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวโกรธแล้วก็นิ่ง เฉยเมย ไม่มีอารมณ์ ไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งรอบตัว
  9. บุคลิกภาพเปลี่ยนไป มีพฤติกรรมที่แต่ก่อนไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น จากที่เป็นคนเงียบ ๆ กลายเป็นคนช่างพูด แต่งตัวผิดกาละเทศะ ใส่เสื้อหนาวทั้งที่อากาศร้อนจัด ใส่กางเกงในทับกางเกงขายาว ใส่ยกทรงทับเสื้อตัวนอก
  10. ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นคนเฉื่อย ๆ ซึม ไม่กระตือรือร้น เช่น นั่งเหม่อลอยเป็นชั่วโมง

 

อาการของสมองเสื่อม

อาการเริ่มแรกของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม จะปรากฏให้เห็นในด้านของความจำระยะสั้น เป็นลำดับแรก เช่น พูดเรื่องซ้ำ ๆ เดิม ๆ และหากมีอาการหลงลืมในระดับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความสามารถในการใช้ภาษาและความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันลดลง นำไปสูงภาวะพึ่งพิงตามมา นอกจากนี้อาจพบอาการทางจิตที่มักเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น อารมณ์เปลี่ยนแปลง หงุดหงิด หวาดระแวงกลัวคนจะมาทำร้าย หรือกลัวคนจะมาขโมยของ หลงผิดคิดว่าคู่สมรสนอกใจ เป็นต้น

จะเห็นว่า ภาวะสมองเสื่อมไม่มีได้ผลกระทบเฉพาะกับผู้ป่วยเท่านั้น หากแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ดูแลใกล้ชิด หรือบุคคลในครอบครัวอีกด้วย ดังนั้นการตรวจพบภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และเริ่มการรักษาอย่างรวดเร็ว จะช่วยชะลอการดำเนินของโรค และลดความรุนแรงของอาการทางจิตอีกด้วย

ระยะแรก ภาวะสมองเสื่อมระดับเล็กน้อย

มักจะจำเรื่องบางอย่างไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งพูดหรือการกระทำที่เพิ่งจะทำไป แต่ความจำที่เป็นระยะก่อน เช่น ความจำในช่วงวัยหนุ่มสาวจะจำได้ดี จะเล่าเรื่องเก่า ๆ ซ้ำ แต่ถ้าให้เล่าหลายครั้งรายละเอียดจะบิดเบือน มักจะพูดหรือถามซ้ำ ๆ โทรศัพท์ไปหาลูกวันละหลาย ๆ ครั้งเพื่อบอกเรื่องเดิม ถ้ามีคนเอาของมาให้ก็จะบอกไม่ได้ว่าใครเอามาให้ นอกจากนี้จะมีปัญหาในการใช้ภาษา เรียกสิ่งของที่เป็นชื่อเฉพาะได้ลำบาก อาจจะไม่สามารถเรียกนาฬิกาได้ถูกต้อง แต่รู้ว่านาฬิกาเอาไว้ใช้ดูเวลา สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ทำได้ช้าลงกว่าเดิม ยิ่งของที่ใช้หรือรู้จักน้อยจะยิ่งพูดไม่ถูก อาจจะทิ้งสิ่งของไว้เลอะเทอะ

สิ่งที่ควรทำในระยะนี้

  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านความจำ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา เพราะการได้รับการตรวจวินิจฉัยในระยะแรก อาจทำให้การดูแลต่าง ๆ ทำได้ดีกว่า
  • ใช้อุปกรณ์ช่วยจำ เช่น การจดบันทึก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยยังสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง
  • เริ่มพูดคุยกับผู้ป่วยด้วยความระมัดระวัง ในเรื่องที่ผู้ป่วยยังสามารถตัดสินใจได้เอง เช่น การตัดสินใจในการรักษาพยาบาล การจัดการทรัพย์สิน

ระยะที่ 2 ผู้ป่วยมีอาการสับสนมากขึ้น

ผู้ป่วยไม่สามารถปกปิดความผิดปกติของความจำได้ สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ความจำระยะสั้นผิดปกติ พูดซ้ำ ถามซ้ำ ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น การอาบน้ำ แปรงฟัน การควบคุมการขับถ่าย การแต่งตัว การรับประทานอาหาร จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวัน

สิ่งที่ควรทำในระยะนี้

  • จัดการทรัพย์สิน พินัยกรรม และการตั้งผู้พิทักษ์การตัดสินใจ ในการรักษาพยาบาล โดยปรึกษากับทนายความหรือนักกฎหมาย
  • ผู้ป่วยเริ่มมีความไม่ปลอดภัยหากอยู่คนเดียว จำเป็นต้องได้รับการดูแลเรื่องการกินอาหาร การกินยา การดูแลความปลอดภัย และการเข้าสังคม
  • เฝ้าระวังดูความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น การทำอาหาร การใช้จ่าย
  • จัดกิจกรรมที่มีการพัฒนาสมอง เช่น เล่นเกมส์ เล่นหมากกระดาน
  • พาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม เช่น ร้องเพลง เต้นรำ
  • เริ่มพิจารณาการดูแลระยะยาวที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
  • จัดการกับความเครียดของผู้ดูแล

ระยะที่ 3 ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำระยะยาว

ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำระยะยาว เช่น จำเหตุการณ์สมัยตนยังเด็กไม่ได้ จำญาติใกล้ชิดไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการทรงตัว การยืน การเดิน และบางรายอาจมีพฤติกรรมเดินไปเดินมาไร้จุดหมาย หรือหลงออกนอกบ้านแล้วจำทางกลับบ้านไม่ได้ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะต้องพึ่งพาผู้ดูแลในทุก ๆ ด้านของชีวิต

สิ่งที่ควรทำในระยะนี้

  • ผู้ป่วยมีปัญหาในการสื่อสาร ผู้ดูแลต้องสังเกต เรียนรู้ถึงการแสดงออกของผู้ป่วยว่าต้องการสื่อถึงอะไร เช่น หิว ปวด
  • เรียนรู้การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เช่น การทำแผล การให้อาหาร
  • จัดการความเครียดของผู้ดูแล

 

 

สาเหตุของสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากความเสียหาย หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสมอง ส่วนใหญ่แล้วภาวะสมองเสื่อมจะไม่สามารถรักษาให้กลับคืนเป็นปกติได้ และอาการมักเป็นมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

สาเหตุของสมองเสื่อมที่มักพบบ่อย

  1. สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมชนิดที่ไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติ ที่พบบ่อยมีดังนี้

    โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด มักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านความจำเป็นหลัก

    โรคสมองเสื่อม จาก ลิววี บอดี สามารถทำให้เสียความทรงจำในระยะสั้น และยังทำให้มีปัญหาในการนอนหลับ อาการประสาทหลอน หรือร่างกายขาดสมดุล

    โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม ผู้ป่วยจะมีบุคลิกที่เปลี่ยนแปลงไป หรือทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น พูดจาหยาบคาย หรือแสดงกริยาที่ไม่เหมาะสมต่อผู้อื่น

    โรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการเคลื่อนไหวที่ช้าลง มีอาการมือสั่นขณะพัก และการทรงตัวที่แย่ลงร่วมด้วย

    ภาวะสมองเสื่อมที่มาจากโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด มักจะเกิดในผู้ป่วยเป็นโรคสมองขาดเลือด มีความเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูงระยะยาว โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคเบาหวาน

    • โรคสมองเสื่อมภายหลังจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง

  2. สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมชนิดที่อาจรักษาให้กลับคืนเป็นปกติได้ ที่พบบ่อยมีดังนี้

    ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

    ภาวะขาดไทรอยด์

    ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ

    การขาดวิตามิน บี 12

    เนื้องอกในสมอง

การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม

จะอาศัยการตรวจร่างกายและตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย หากสงสัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม แพทย์จะตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจร่างกายทางระบบประสาท ตรวจสอบสุขภาวะทางจิต ตรวจทางห้องปฏิบัติการ และตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

เมื่อมีอาการน่าสงสัยควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะดำเนินการตรวจดังนี้
•    ซักประวัติและตรวจร่างกาย ผู้ป่วยมักให้ประวัติไม่ได้ เนื่องจากหลงลืม ต้องซักประวัติจากญาติหรือผู้ดูแล โดยจะถามเรื่องอาการหลงลืม พฤติกรรม อารมณ์ ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ยาที่ใช้ประจำ เริ่มมีอาการเมื่อใด เป็นต้น
•    ประเมินเบื้องต้นว่ามีอาการซึมเศร้าหรือไม่ ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าอาจความจำไม่ดี และเมื่อรักษาภาวะซึมเศร้าแล้วความจำจะดีขึ้น
•    ทดสอบความจำ โดยประเมินความจำที่มีความยาก ง่าย และใช้ระยะเวลาแตกต่างกัน ตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วยและระดับการศึกษาเดิมของผู้ป่วย
•    ตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้ความจำไม่ดี เช่น ไทรอยด์ทำงานน้อยไป เกลือแร่ผิดปกติ ขาดสารอาหารหรือวิตามินบางชนิด โรคซิฟิลิส
•    การตรวจอื่นๆ ซึ่งพิจารณาทำเฉพาะในรายที่มีข้อบ่งชี้ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค เช่น การตรวจสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

การรักษาภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น อัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อมจาก ลิววี บอดี โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม การรักษาจะเพื่อบรรเทา และชะลอการดำเนินโรค ไม่ให้อาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว เพื่อคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลดีขึ้น

1. การรักษาด้วยยา

  • ยากลุ่มที่ต้านการทำลายของสารสื่อประสาทชนิดโคลีน ซึ่งมีกลไกการทำงานไปกระตุ้นการรับรู้ที่เกี่ยวกับความทรงจำและการตัดสินใจ ยากลุ่มนี้มีด้วยกัน 3 ตัว ได้แก่ ยาโดนีพีซิล (donepezil) ยาไรวาสติกมีน (Rivastigmine) และยากาแลนตามีน (galantamine) ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย
  • ยาที่ปิดกั้นการทำงานของสารสื่อประสาทชนิดกลูตาเมทที่ระดับต่ำแบบชั่วคราว (ยาเมแมนทีน/memantine) บางกรณีแพทย์จะจ่ายยานี้ให้พร้อมกับยากลุ่มที่ต้านการทำลายของสารสื่อประสาทชนิดโคลีน
  • ยาฉีดที่ออกฤทธิ์ต้านการสร้างอะไมลอยด์ (anti-amyloid therapy)
  • แพทย์อาจจ่ายยาที่รักษาอาการอื่น ๆ เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หรือภาวะซึมเศร้า

2. การบำบัด

  • ปรับเปลี่ยนการทำงาน เช่น มีการวางแผนและจัดเตรียมขั้นตอนการทำงานให้เรียบร้อย
  • ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม จัดข้าวของให้เป็นระเบียบ และตัดเสียงรบกวน จะช่วยให้ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีขึ้น
  • •บำบัดกับนักกิจกรรมบำบัด มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น การตกจากที่สูง หรือการควบคุมอารมณ์ หรือพฤติกรรมต่าง ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะสมองเสื่อม

  1. การสื่อสาร ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารหรือแสดงความรู้สึกไปยังผู้อื่นได้
  2. ดูแลตนเองไม่ได้ ในกระบวนการเกิดภาวะสมองเสื่อม อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถอาบน้ำ แต่งตัว หวีผม แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ หรือการรับประทานยาได้ถูกต้อง นำไปสู่สภาะพึ่งพิง
  3. ภาวะขาดสารอาหารหรือขาดน้ำ ผู้ป่วยสมองเสื่อมมักจะลดการบริโภคอาหาร และในที่สุดจะไม่สามารถเคี้ยวหรือกลืนอาหารได้
  4. ปอดอักเสบติดเชื้อ เมื่อผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมเกิดความยากลำบากในการกลืนอาหาร อาจทำให้สำลักเอาเศษอาหารเข้าไปในปอด ทำให้อุดกั้นทางเดินหายใจและทำให้เกิดปอดอักเสบติดเชื้อได้ในที่สุด

การป้องกัน และการชะลอการดำเนินภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมป้องกันได้ยากเพราะมักไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจจะสามารถลดโอกาสการเป็นสมองเสื่อมลงได้ โดยการดูแลสุขภาพโดยรวมให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งมีแนวทางง่าย ๆ ดังนี้

  1. รับประทานอาหารสุขภาพและมีประโยชน์ เน้นการรับประทานผักและผลไม้ เช่น อาหารเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม
  2. ได้รับวิตามิน ดี อย่างเพียงพอ จากการรับประทานอาหารเสริมหรือจากแสงแดด เนื่องจากการวิจัยพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามิน ดี ต่ำมีโอกาสที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์หรือเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
  3. เลิกบุหรี่ ทำให้สุขภาพดีขึ้น และสามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม
  4. รักษาระดับความดันโลหิต ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมบางชนิด
  5. เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยชะลอการเกิดสมองเสื่อม
  6. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมรวมไปถึงโรคเรื้อรังอื่น ๆ
  7. ออกกำลังกายเป็นประจำให้ได้ 150 นาที ต่อสัปดาห์
  8. ทำอารมณ์ให้แจ่มใสและเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ เพื่อเป็นการฝึกสมอง ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก เช่น การอ่านหนังสือ หรือเล่นเกมเสริมทักษะความรู้ต่าง ๆ

ภาวะสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์ เหมือนกันหรือไม่?

อัลไซเมอร์เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มอาการสมองเสื่อม และเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด คือ ประมาณ 65% ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีความผิดปกติอย่างช้า ๆ เป็นปี ทำให้ผู้ใกล้ชิดบอกจุดเริ่มต้นของอาการไม่ชัดเจน โดยมากอาการที่เด่นชัดจะเป็นปัญหาเรื่องความจำและพฤติกรรม ที่สำคัญ คือ อาการผิดปกตินั้นจะต้องเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุของการเกิดโรคในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด ทราบแต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสมอง จนทำให้สมองทำหน้าที่ลดลงและเหี่ยวไป ความผิดปกติเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันโรคนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรม แต่อาจถ่ายทอดในครอบครัวทางพันธุกรรมได้ในผู้ป่วยส่วนน้อยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ อายุที่มากขึ้น เพศ (พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย) ผู้ที่มีการศึกษาน้อยหรือใช้สมองน้อย พันธุกรรม และโรคทางร่างกายบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง

จะรู้อย่างไรว่าหลงลืมตามวัย (ขี้ลืม) หรือ อาการของภาวะสมองเสื่อม (หลงลืม)

การจำแนกว่าเป็นการลืมตามวัย หรือ การหลงลืมจากภาวะสมองเสื่อมมีหลักง่าย ๆ  คือ หากจำได้ว่าลืมทำอะไร ถือเป็นการลืมธรรมดา แต่ถ้าจำไม่ได้เลยว่าเคยทำอะไรหรือลืมอะไร มักเป็นการลืมที่ผิดปกติไม่ธรรมดา อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมได้
ขี้ลืม ผู้ที่มีอาการขี้ลืมมักจะพอจำเหตุการณ์ได้เลา ๆ แต่จำรายละเอียดของเหตุการณ์ไม่ได้ เช่น ลืมว่าวางแว่นตาไว้ที่ไหน ไม่แน่ใจว่าล็อคประตูบ้านแล้วหรือยัง
หลงลืม ในขณะที่ผู้ที่มีอาการหลงลืมจากสมองเสื่อมมักจะจำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้น เช่น จำไม่ได้ว่าตนเองต้องใช้แว่นตา หรือจำไม่ได้เลยว่าบ้านตนเองอยู่ที่ใด โดยเฉพาะหากการลืมนั้นเป็นการลืมที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ลืมปิดเตาแก๊สบ่อยจนเกิดไฟไหม้ ควรสงสัยว่าไม่ใช่อาการขี้ลืมธรรมดา อาจมีภาวะสมองเสื่อมแล้ว จึงควรรีบไปพบแพทย์

สมองเสื่อมมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน

เป็นการยากที่จะบอกว่าผู้ป่วยจะมีชีวิตได้อีกนานเท่าไร ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุของสมองเสื่อม และสุขภาพโดยส่วนรวมของผู้ป่วย ถ้าหากมีสุขภาพแข็งแรงดี อาการของโรคจะดำเนินไปอย่างช้า ๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จนถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล อาการสมองเสื่อมจะเลวลงอย่างมาก
ผู้ดูแลควรจะต้องดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม ดังนี้

  • ให้รับประทานอาหารอย่างเพียงพอ มีสารอาหารครบถ้วน
  • ให้ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ เพื่อให้มีการทรงตัวที่ดี ลดโอกาสที่จะหกล้มได้ง่าย
  • ระมัดระวังอย่าให้เจ็บป่วยง่าย เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย เป็นต้น
  • ระมัดระวังอย่าใช้ยาโดยไม่จำเป็น เพราะยาบางอย่างทำให้อาการสมองเสื่อมเร็วลง

ปัญหาในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมและวิธีการแก้ไข

ผู้ดูแลและครอบครัวของผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อมเพื่อจะได้เข้าใจผู้ป่วยได้ดี มีความอดทนและใจเย็นในการดูแลผู้ป่วย
ปัญหาหลักของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม

  • ปัญหาความจำ อาการหลงลืม ไม่สามารถจำสิ่งใหม่ ๆ และความสามารถในการจำปัจจุบันลดน้อยลงไปเรื่อย ๆการแก้ไข : ให้อยู่กับบุคคลหรือสถานที่คุ้นเคย ชักชวนทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อทบทวนความจำ
  • ปัญหาทางอารมณ์ ตื่นกลัว กังวล หงุดหงิดง่าย สิ้นหวัง ซึมเศร้าการแก้ไข : พูดให้กำลังใจ หากิจกรรมที่ชอบและคุ้นเคย พูดคุยให้ความสนใจ ใช้ยาช่วย จัดสภาพแวดล้อมที่สดชื่น ปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพกายและจิตของผู้ดูแลด้วย
  • ปัญหานอนไม่หลับ อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงวงจรการนอน สับสนเพราะการรับรู้เสื่อมการแก้ไข : เพิ่มกิจกรรมช่วงกลางวัน งดนอนกลางวัน เข้านอนเป็นเวลา หลีกเลี่ยงชา กาแฟ ให้ดื่มนมอุ่น ๆ หรือกินกล้วยก่อนนอน จัดสภาพเตียง ที่นอน ห้องนอน ให้เหมาะสม
  • ปัญหาทางพฤติกรรม ความจำ การรับรู้ การเรียนรู้แย่ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น การแต่งตัว พฤติกรรมบางอย่างไม่เหมาะสม เช่น เดินออกจากบ้าน พูดซ้ำ ๆ ตะโกน วุ่นวาย ก้าวร้าว เดินหลงทาง หกล้ม เฉยเมย

การแก้ไข : ครอบครัว ผู้ดูแล และสังคม ต้องพยายามเข้าใจอาการเหล่านี้ ว่าผู้ป่วยต้องการอะไร เช่น รับฟัง ให้ผู้ป่วยอธิบายถึงเหตุผล เบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่น ๆ สนใจแต่ไม่ใส่ใจ หากมี การตะโกนเสียงดังโดยไม่มีสาเหตุ และขอให้หยุดยาก ลองพยายามเรียกคนที่ผู้ป่วยรัก (แม้ว่าคนนั้นจะไม่อยู่)
•    ปัญหาเดินไปเดินมา
          เดินไปเดินมาบ่อย ๆ โดยไม่มีสาเหตุ
การแก้ไข : ให้หาสาเหตุว่าจากอะไร เช่น เบื่อ กังวล การรับรู้เสียไป แล้วบอกผู้ป่วยว่าอยู่ที่ไหน เวลาอะไร เสริมกิจกรรมให้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย เดินเล่น ขจัดสาเหตุที่อาจกระตุ้น
•    ปัญหาอาการทางจิต
          หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว ภาพหลอน
การแก้ไข : อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย พูดคุยทบทวนความจำ พูดคุยให้รู้สึกมั่นคงทางจิตใจ
•    ปัญหาการสื่อภาษา
          ใช้ภาษาหรือไวยากรณ์เพี้ยน ไม่สามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจ ไม่เข้าใจการสื่อสารของผู้อื่น การแปลภาพผิด
การแก้ไข : ตรวจตา หู ฟันปลอม (พูดไม่ชัด) ใช้ข้อความสั้น ๆ เข้าใจง่าย ใช้ภาษากาย ยิ้มแย้ม อดทน ตั้งใจฟังให้ละเอียด มีความช่างสังเกต

การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม


1.เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วิธีการดูแลทั้งเรื่องอาหารและสภาพแวดล้อม โดยหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมอ่าน หรือปรึกษาแพทย์ หรือเข้าอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ยิ่งมีความเข้าใจมากขึ้นเท่าใด จะทำให้สามารถหาวิธีดูแล และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
2. ปรับสถานที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย

  • เก็บสิ่งของที่จะเป็นอันตรายทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือไฟไหม้ได้ง่าย เช่น กาต้มน้ำ ปลั๊กไฟ เตาแก๊ส
  • ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มั่นคง
  • ทำหน้าต่าง / ประตู ที่ยากต่อการเปิด
  • มีแสงสว่างเหมาะสม

3. เตรียมแผนสำรอง ในกรณีที่ผู้ดูแลมีภารกิจส่วนตัวจำเป็น เจ็บป่วย ทุกคนในครอบครัวต้องมีส่วนร่วม ไม่ทิ้งภาระทั้งหมดให้กับผู้ดูแลหลักเพียงคนเดียว สมาชิกคนอื่นในครอบครัวต้องเข้ามาช่วยผลัดเปลี่ยนดูแลผู้ป่วยบ้าง เพื่อให้ผู้ดูแลหลักได้พักหรือมีเวลาเป็นของตนเองบ้าง
4.ดูแลตัวเอง การที่เราจะสามารถให้การดูแลผู้อื่นได้ดีขึ้น เราต้องสามารถดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี ทั้งร่างกายและจิตใจก่อนเสมอ

สรุป

สมองเสื่อมไม่ใช่ภาวะปกติที่พบได้ทั่วไปในผู้สูงอายุ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นอาจจะมีอาการหลงลืมได้บ้าง ลืมแล้วจำได้ว่าลืมอะไร แต่อาการหลงลืมของคนที่มีภาวะสมองเสื่อมจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญจะจำเหตุการณ์และเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย รวมทั้งสิ่งที่ตัวเองกระทำลงไปด้วย เมื่ออาการมากขึ้นจะพูดบอกความต้องการหรือความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ ญาติหรือคนใกล้ชิดผู้สูงอายุ จะเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมากในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม หากสงสัยว่าผู้สูงอายุอาจมีภาวะสมองเสื่อมควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และต้องยอมรับว่าภาวะสมองเสื่อมส่วนมากไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่บางสาเหตุสามารถรักษาหรือชะลอความเสื่อมได้ การรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการระยะแรกจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยมาก ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวลาที่เหลืออยู่และลดภาระแก่ผู้ดูแลและครอบครัว เราทุกคนสามารถชะลอความเสื่อมของสมองได้ การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญในการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้การบริหารสมองเป็นประจำยังเป็นวิธีการช่วยป้องกันได้ดีด้วย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุสามารถบริหารสมองด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น การท่องบทสวดมนต์ การร้องเพลง นอกจากจะเป็นการฝึกความจำแล้ว เสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ จากการสวดมนต์หรือร้องเพลงยังทำให้สมองทำงานได้ดีด้วย รวมถึงทำให้เกิดสมาธิ การฝึกตัวเองเสมอ ๆ จะทำให้การลืมลดลง

"สัญญาณอันตราย ภาวะสมองเสื่อม"

  • ถามซ้ำ ๆ และเล่าเรื่องเดิมซ้ำ ๆ
  • จำเรื่องที่เพิ่งเกิดไม่ได้
  • สับสนเรื่องทิศทางที่คุ้นเคย
  • ใช้ภาษาสื่อสารได้ลดลง
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

หากมีคำถาม ข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม โปรดปรึกษาแพทย์

คลิกขอคำปรึกษา

 

แหล่งข้อมูล : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข



แพทย์ประจำศูนย์

ศูนย์ฉุกเฉินและอุบัติเหตุ

นพ.เจษฎา บุญญานุภาพพงศ์

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

ศูนย์ตรวจสุขภาพและอาชีวเวชศาสตร์

นพ.ธนิยะ วงศ์วาร

แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์

ศูนย์กระดูกและข้อ

นพ.ชุมพล ปิยวัณโณ

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคพาร์กินสัน อาการและการรักษา

โรคพาร์กินสัน หรือรู้จักกันในชื่อโรค “สันนิบาต” เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ทำให้ผลิตสารสื่อประสาทโดพามีน ลดลง ซึ่งสารนี้มีความสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว โดยเฉลี่ยจำนวนประชากรไทยทั่วประเทศมีความชุกของโรคนี้ ร้อยละ 0.24 หรือประมาณ 770,000 ราย โรคนี้พบได้ในผู้สูงอายุบ่อยกว่าวัยหนุ่มสาว โดยมักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี

blank โรงพยาบาลพิษณุเวช

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
โรคพาร์กินสัน อาการและการรักษา

โรคพาร์กินสัน หรือรู้จักกันในชื่อโรค “สันนิบาต” เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ทำให้ผลิตสารสื่อประสาทโดพามีน ลดลง ซึ่งสารนี้มีความสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว โดยเฉลี่ยจำนวนประชากรไทยทั่วประเทศมีความชุกของโรคนี้ ร้อยละ 0.24 หรือประมาณ 770,000 ราย โรคนี้พบได้ในผู้สูงอายุบ่อยกว่าวัยหนุ่มสาว โดยมักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี

blank โรงพยาบาลพิษณุเวช

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม