เราไม่ปอด แต่ มะเร็งปอด
07 พฤศจิกายน 2567
มะเร็งปอด (Lung Cancer)
มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบได้มากในประเทศไทย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของทั้งเพศชายและเพศหญิง อย่างไรก็ดีมะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะต้น
มะเร็งปอดมีกี่ชนิด ?
มะเร็งปอด เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่กระจายไปตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย มะเร็งปอดจะทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
ชนิดของมะเร็งปอด
มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามขนาดของเซลล์ ซึ่งความแตกต่างของขนาดเซลล์นี้มีความสำคัญ เนื่องจากวิธีการรักษาจะแตกต่างกัน
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
- มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (พบได้ประมาณ 85-90%) แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่า และสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่น ๆ
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด ?
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด
ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด เช่น
- บุหรี่ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมากที่สุด ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบหรี่ถึง 10-30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่
- การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ แอสเบสตอส (asbestos) ก๊าซเรดอน (radon) สารหนู รังสี และสารเคมีอื่นๆ รวมถึงฝุ่นและไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่น ๆ
- อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้ไม่ได้สูบบุหรี่
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดควรพบแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการลดปัจจัยเสี่ยงและวางแผนการตรวจสุขภาพ ส่วนผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งปอดมาแล้ว ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังการรักษา เนื่องจากอาจมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดซ้ำได้อีก
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
การตรวจคัดกรองช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบและรักษามะเร็งได้ตั้งแต่ระยะต้น ๆ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจสอบมะเร็งปอดแบบง่ายหรือด้วยตนเองดังเช่นมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามมีวิธีการตรวจสอบแบบใหม่ที่เป็นการตรวจเอกชเรย์คอมพิวเตย์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose helical computerized tomography) ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยมะเร็งปอดได้
อาการอย่างไร ที่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด ?
อาการของโรคมะเร็งปอด
โดยทั่วไปแล้วมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้ว อาจพบอาการดังต่อไปนี้
- ไอเรื้อรัง (ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ)
- มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจสั้น
- หายใจมีเสียงหวีด
- เจ็บบริเวณหน้าอกตลอดเวลา
- ไอมีเลือดปน
- เสียงแหบ
- ติดเชื้อในปอดบ่อย ๆ เช่น ปอดบวม
- เหนื่อยง่ายหรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
อาการเหลำนี้อาจไม่เกี่ยวเนื่องกับมะเร็งปอด เนื่องจากมีหลายโรคที่อาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุด
การตรวจหามะเร็งปอดมีอะไรบ้าง ?
การตรวจเบื้องต้นและการวินิจฉัยมะเร็งปอด
หากมีอาการที่เข้าข่ายของโรคมะเร็งปอด แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจเสมหะ เอกชเรย์ปอด หากพบความผิดปกติ อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
การตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวิเคราะห์ (Biopsy)
การตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวิเคราะห์ สามารถทำได้หลายวิธี
- การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อ (Fine-needle aspiration) แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะที่ช่องอกไปยังปอด และดูดตัวอย่างของเหลวเนื้อเยื่อที่สงสัยเพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ โดยทั่วไปมักทำพร้อมกับการเอกชเรย์หรือการทำ Computed tomography scan (CT scan) เพื่อหาตำแหน่งที่ถูกต้องของเนื้อเยื่อที่ต้องการตรวจสอบ
- การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (Bronchoscopy) แพทย์จะทำการสอดท่อขนาดเล็กที่มีหลอดไฟผ่านทางจมูกหรือปากเข้าไปสู่ปอด โดยท่อนี้สามารถดูดของเหลวหรือตัดชิ้นเนื้อเยื่อที่สงสัยออกมาตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด
- การใช้เข็มเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดแทงผ่านผนังทรวงอก (Thoracentesis) แพทย์จะใช้เข็มเจาะที่ช่องอกบริเวณระหว่างปอดและผนังของช่องอก เพื่อทำการเก็บของเหลวบริเวณดังกล่าวมาตรวจหาเซลล์มะเร็ง
- การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง (Mediastinoscopy) แพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณส่วนบนของกระดูกอก จากนั้นสอดกล้องเข้าไปภายในช่องทรวงอก และนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือต่อมน้ำเหลืองออกมาตรวจ
- การตรวจช่องทรวงอกโดยการส่องกล้อง (Thorocoscopy) แพทย์จะใช้กล้องสอดเข้าทางผนังทรวงอกเพื่อตัดก้อนเนื้อจากปอดไปตรวจ
การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสี
- การตรวจด้วยเครื่องเอกชเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography scan : CT scan) และการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging : MRI) เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์หาตำแหน่งและขนาดของกัอนเนื้อที่ผิดปกติในบริเวณปอดได้
- การตรวจด้วยเครื่อง Positron emission tomography scan (PET scan) เป็นการฉีดโมเลกุลของสารกัมมันตภาพรังสีที่รวมกับน้ำตาลเข้าทางเส้นเลือด เซลล์มะเร็งปอดจะดูดซึมเอาน้ำตาลชนิดนี้ไว้อย่างรวดเร็วและมากกว่าเซลล์ปกติ ทำให้เกิดความแตกต่างของการเรืองแสงเฉพาะเซลล์มะเร็ง
การตรวจยืนกลายพันธุ์ของมะเร็งจากชิ้นเนื้อ / เลือด
หากมียีนกลายพันธุ์ที่สามารถรักษาด้วยการใช้ยารักษาแบบเฉพาะเจาะจงยีน จะทำให้กำจัดเซลล์มะเร็งได้ตรงจุด
มะเร็งปอดมีกี่ระยะ ?
ระยะของมะเร็งปอด - ระยะของมะเร็งกำหนดจากตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง และการทำงางานที่ผิดปกติของอวัยวะร่างกาย ระยะของมะเร็งมีความสำคัญต่อการรักษา เพราะช่วยให้แพทย์หาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ส่งผลต่อการหายของโรค หรือการมีชีวิตที่ยืนยาวหรือดำรงชีวิตได้ดีขึ้น
-
ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
- ระยะจำกัดของขนาดมะเร็ง (Limited stage) เป็นระยะที่มะเร็งจะอยู่ในบริเวณปอดเท่านั้น
- ระยะการแพร่กระจาย (Extensive stage) เป็นระยะที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
-
ระยะของมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 พบมะเร็งเฉพาะที่บริเวณปอดเท่านั้น ไม่พบในต่อมน้ำเหลือง และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
- ระยะที่ 2
- - ระยะที่ 2A มะเร็งมีขนาดเล็ก และพบแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด
- - ระยะที่ 2B มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย และแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด หรือ เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น เช่น ที่ผนังทรวงอก
- ระยะที่ 3
- ระยะที่ 3A เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณอื่นที่ห่างจากปอด หรือพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองรอบ ๆ ปอด และเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังผนังทรวงอกหรือบริเวณกลางช่องอก
- ระยะที่ 3B เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองอีกด้านของช่องอกหรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า หรือมีเนื้องอกมากกว่า 1 ก้อนในปอด หรือเนื้องอกเจริญเติบโตในอีกด้านของช่องอก เช่น หัวใจ หลอดอาหาร หรือมีของเหลวที่มีเซลล์มะเร็งอยู่รอบ ๆ ปอด
- ระยะที่ 4 มะเร็งได้กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก สมอง
มะเร็งปอดรักษาได้หรือไม่ ?
การรักษามะเร็งปอด - สิ่งสำคัญของการรักษามะเร็งปอด คือ การพิจารณาตำแหน่ง ขนาด และระยะของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย
การผ่าตัด
- มีเป้าหมายเพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด ซึ่งบางครั้งกัอนเนื้อนั้นอาจไม่ไช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดก็ได้
- โดยทั่วไปไม่ใช้วิธีการผ่าตัดในการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กซึ่งมักมีการแพร่กระจายตัวของเซลล์มะเร็งอย่างรวดเร็ว
- การผ่าตัดจะใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ในระยะที่ 1, 2 และ 3A
การฉายรังสี (Radiotherapy)
- เป็นการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น
- วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับระยะมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ แต่อาจใช้เฉพาะจุดเพื่อควบคุมการลุกลาม
- การฉายรังสีใช้เวลาไม่นานและไม่ทำให้เจ็บปวด แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น กลืนลำบาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี
- การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เพื่อให้ภูมิคุ้มกัน ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกัน การตรวจจับและการทำลายเซลล์มะเร็งมีประสิทธิภาพ
- การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย โดยทั่วไปยาเคมีบำบัดที่ใช้กับมะเร็งปอดเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือด
- การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ ให้ประสิทธิผลในการรักษาและไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนยาเคมีบำบัด
- การรักษาด้วยการผสมผสาน โดยทั่วไปการรักษามะเร็งจะใช้มากกว่าหนึ่งวิธีขึ้นไป ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาและผลข้างเคียงของแต่ละวิธี เพื่อให้ความร่วมมือในการรักษาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
การดูแลตนเองภายหลังการรักษา
- หากยังสูบบุหรี่อยู่ ควรหยุดทันที
- เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการดีขึ้น ควรออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 15-30 นาที เพื่อส่งเสริมการทำงานของปอดและหัวใจให้ดีขึ้น
- พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และป้องกันการเกิดมะเร็งที่อวัยวะอื่น
ข้อมูลอ้างอิง :
- Mayo Clinic. Lung Cancer. Available from: ttps://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lung-cancer/symptoms-causes/syc-20374620 [Accessed 28 November 2019].
- Centers for Disease Control and Prevention. Basic Information About Lung Cancer. Available from: https://www.cdc.gov/cancer/lung/basic_info/index.htm [Accessed 28 November 2019].
- National Cancer Institute. Lung Cancer-Patient Version. Available from: https://www.cancer.gov/types/lung [Accessed 28 November 2019].
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์มะเร็งพิษณุเวช ฮอไรซัน
สถานที่
เวลาทำการ
เบอร์ติดต่อ
055-90-9000 ต่อ 520101, 520102