ไบโพลาร์ (bipolar disorder) โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว
ไบโพลาร์ (Bipolar disorder) หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) สลับกับช่วงอารมณ์ดี หรือคึกคักมากกว่าปกติ หรือ เมเนีย (mania หรือ hypomania) โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลาย ๆ เดือนก็ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น การทำงาน การเรียน และการดูแลตนเอง ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ
จากการสำรวจในประชากรทั่วไป พบผู้เป็นโรคไบโพลาร์ได้สูงถึง 1.5-5% ของจำนวนประชากร มักพบได้บ่อยในช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมาคืออายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี และยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้สูงถึง 70-90%
ไบโพลาร์ อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
- Bipolar I disorder คือ มีอาการเมเนีย สลับกับช่วงซึมเศร้า หรืออาจมีอาการเมเนียเพียงอย่างเดียวก็ได้
- Bipolar II disorder คือ มีอาการซึมเศร้า สลับกับช่วงไฮโปเมเนีย (Hypomania)
การวินิจฉัย
สามารถวินิจฉัยโรคไบโพลาร์ได้จากการประเมินโดยจิตแพทย์ จากการซักประวัติทั้งผู้ป่วยและคนญาติ ประกอบกับการตรวจสภาพจิต ประวัติการใช้ยาและสารต่าง ๆ หรือโรคประจำตัว เนื่องจากยาบางชนิดหรือโรคทางร่างกายบางโรคอาจทำให้มีอาการทางจิตเหมือนกับโรคไบโพลาร์ได้
โรคทางกาย และยาที่อาจทำให้เกิดอาการทางจิต
- โรคทางระบบประสาท เช่น โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง ไมเกรน เนื้องอกสมอง
- อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ
- โรคต่อมไร้ท่อ เช่น ความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน
- โรคติดเชื้อ เช่น โรคเอดส์ การติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง
- โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น SLE
- ยาต่าง ๆ เช่น ยาแก้ซึมเศร้า, corticosteroid, methylphenidate, levodopa, amphetamine, cocaine เป็นต้น
ผู้ที่สงสัยว่าตนเอง หรือคนใกล้ตัวอาจจะเป็นไบโพลาร์ ควรพบแพทย์ เพื่อประเมินโดยละเอียด และวินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย
อาการระยะ เมเนีย มักเกิดขึ้นเร็ว และเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนภายใน 2-3 สัปดาห์ อาการจะเต็มที่ อารณ์รุนแรง ก้าวร้าวจนญาติรับไม่ไหวต้องพามาโรงพยาบาล อาการในครั้งแรก ๆ จะเกิดหลังมีเรื่องกดดัน แต่หากเป็นหลาย ๆ ครั้งก็มักเป็นขึ้นเองโดยที่ไม่มีปัญหาอะไรมากระตุ้น ข้อสังเกต คือ คนที่อยู่ในระยะเมเนียจะไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ มองว่าช่วงนี้ตัวเองอารณ์ดีหรือใคร ๆ ก็ขยันกันได้ ในขณะที่หากเป็นระยะซึมเศร้า คนที่เป็นจะพอบอกได้ว่าตนเองเปลี่ยนไปจากเดิม
ระยะซึมเศร้า คนใกล้ชิดมักสังเกตได้ไม่ยาก เพราะเขาจะมองดูอมทุกข์ แต่อาการแบบเมเนียจะบอกยากโดยเฉพาะในระยะแรก ๆ ที่อาการยังไม่มาก เพราะดูเหมือนขยันอารมณ์ดีเท่านั้นเอง แต่ถ้าสังเกตจริง ๆ ก็จะเห็นว่าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาจะดู เว่อร์ กว่าปกติไปมาก
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคไบโพลาร์
- ปัจจัยทางชีวภาพ ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ความผิดปติของระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย การนอนหลับที่ผิดปกติ ความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์
- ปัจจัยทางจิตสังคม การไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเครียด หรือปัญหาต่าง ๆ ได้ สามารถกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ได้ ทั้งนี้ปัจจัยทางสังคมไม่ใช่สาเหตุของโรค แต่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้โรคแสดงอาการได้
- ปัจจัยทางพันธุศาสตร์ ปัจจุบันยังไม่ทราบรูปแบบของการถ่ายทอดผ่านยีนที่ชัดเจนของโรคไบโพลาร์ แต่จากการศึกษาพบว่าสามารถพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นไบโพลาร์มากกว่าคนทั่วไป
โรคนี้จึงไม่ใช่โรคทางกรรมพันธุ์เหมือนโรคทางกรรมพันธุ์อื่น ๆ แต่จะคล้ายกับโรคเบาหวานมากกว่า คือ พ่อกับแม่เป็น ลูกก็เสี่ยงแต่ไม่แน่ว่าจะเป็น บางคนพ่อแม่ไม่เป็นแต่ตัวเองเป็นก็มี
อาการของโรคไบโพลาร์
ไบโพลาร์ จะมีช่วงที่อารมณ์ผิดปกติ โดยมีช่วงซึมเศร้า(depressive episode) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดี หรือคึกคักมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania)
ระยะซึมเศร้า
ช่วงอารมณ์ซึมเศร้า (Depressive Episode) มีอาการดังต่อไปนี้เกือบตลอดเวลา และเป็นติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้) ผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้
- ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก อะไรที่เคยชอบทำก็จะไม่อยากทำ แรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ก็จะลดลง
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหาร หรือเจริญอาหารมาก
- นอนไม่หลบ อาจมีอาการนอนหลับยาก หรือนอนแล้วตื่นเร็วกว่าปกติ อาจนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ทำให้รู้สึกไม่สดชื่น หรืออาจนอนหลับมากไป ต้องการนอนทั้งวัน กลางวันหลับมากขึ้น
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไร
- รู้สึกตนเองไร้ค่า บางรายอาจรู้สึกสิ้นหวัง มองสิ่งรอบ ๆ ตัวในแง่มุมลบไปหมด รวมถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึงด้วย
- สมาธิและความจำแย่ลง
- คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย บ่นไม่รู้จะอยู่ไปทำไม หรือพูดทำนองฝากฝั่ง สั่งเสีย ญาติหรือคนใกล้ชิดอย่ามองข้ามหรือต่อว่าเขาว่าอย่าคิดมาก แต่ควรให้สนใจพยายามพูดคุยกับเขา รับฟังสิ่งที่เขาเล่าให้มาก ๆ ถ้ารู้สึกไม่เข้าใจหรือมองแล้วไม่ค่อยดี ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว
ระยะอาการเมเนีย หรือ ช่วงอารมณ์ดีหรือคึกคักมากกว่าปกติ (mania) มีลักษณะดังต่อไปนี้
- 1. อารมณ์เปลี่ยนแปลง จะมีอารมณ์ร่าเริงมีความสุข เบิกบานใจ หรือหงุดหงิดง่ายก็ได้ ซึ่งญาติใกล้ชิดมักจะสังเกตได้ว่าอารมณ์ของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนผิดปกติ และเป็นติดต่อกันทุกวันอย่างน้อย 1 สัปดาห์
- 2. มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น จะมีความเชื่อมั่นว่าตนเองมีความสามารถมากเกินไป เชื่อว่าตนเองสำคัญ และยิ่งใหญ่ เช่น เชื่อว่าตนเองมีอำนาจมาก หรือมีพลังอำนาจพิเศษ เป็นต้น
- 3. การนอนผิดปกติไป จะมีความต้องการในการนอนลดลง บางรายอาจรู้สึกว่านอนแค่ 3 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว เป็นต้น
- 4. ความคิดแล่นเร็ว (fight of idea) ผู้ป่วยจะคิดค่อนข้างเร็ว บางครั้งคิดหลาย ๆ เรื่องพร้อม ๆ กัน คิดเรื่องหนึ่งไม่ทันจบก็จะคิดเรื่องอื่นทันที บางครั้งอาจแสดงออกมาในรูปของการมีโครงการต่าง ๆ มากมาย พลังมีเหลือเฟือ
- 5. พูดเร็วขึ้น เนื่องจากความคิดแล่นเร็วจึงส่งผลให้พูดเร็ว และขัดจังหวะได้ยาก ยิ่งถ้าอาการรุนแรงการพูดจะดัง และเร็วขึ้นอย่างมาก จนบางครั้งยากต่อการเข้าใจ
- 6. วอกแวกง่าย จะไม่ค่อยมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน และความสนใจมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้าภายนอกที่เข้ามากระตุ้นได้ง่าย
- 7. การเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น บางรายจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเวลา ทั้งที่ทำงาน โรงเรียน หรือที่บ้าน มีการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้นชัดเจน ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้
- 8. ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ มักจะแสดงพฤติกรรมที่เกิดจากการยับยั้งชั่งใจไม่ได้ เช่น ดื่มสุรามาก ๆ โทรศัพท์ทางใกลมาก ๆ เล่นการพนัน หรือเสี่ยงโชคอย่างมาก ใช้จ่ายเงินเกินตัว
- ** สำหรับอาการไฮโปเมเนียนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการเช่นเดียวกับเมเนีย แต่จะแตกต่างคือ ไฮโปเมเนียจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ หรือการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก และผู้ป่วยต้องมีอาการนานอย่างน้อย 4 วัน **
วิธีการรักษาไบโพลาร์
ไบโพลาร์ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ โดยเป็นการรักษาตามอาการ และระดับความรุนแรงของโรค ได้แก่
• ปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับยาร่วมกับการบำบัดทางการแพทย์ พูดคุยกับนักบำบัดเพื่อการเผชิญปัญหาเชิงบวก หรือให้ผู้ป่วยได้เข้าใจถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ด้วยการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ เพื่อให้สามารถจัดการกับโรคได้
• กินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และห้ามหยุดยาเอง
• การดูแลสภาพจิตใจและการช่วยเหลือจากญาติและคนใกล้ชิดมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้
• วิธีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น การมีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและสังคม การมุ่งเน้นไปที่การควบคุมวิถีชีวิตประจำวัน เช่น การนอนหลับ การกิน การออกกำลังกาย การปรับสมดุลพื้นฐานในชีวิตประจำวันเพื่อจัดการกับความผิดปกติของตัวเอง
• หากมีการใช้สารเสพติด ควรงดใช้สารเสพติดทุกชนิด เนื่องจากอาจมีผลต่ออาการและยาที่ใช้รักษา
• การเยียวยาโดยธรรมชาติ รวมถึงตัวเลือกอื่น ๆ ในการรักษา เช่น การบำบัดด้วยไฟฟ้า (ECT) ยานอนหลับ การฝังเข็ม สมุนไพรและอาหารเสริมที่อาจช่วยบรรเทาอารมณ์สองขั้วได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
การดูแลตนเองเบื้องต้น ให้ห่างไกลไบโพลาร์
• หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การใช้สารเสพติด หรือยาที่ซื้อมารับประทานเองบางประเภท เช่น ยาลดความอ้วน ยาสมุนไพร เป็นต้น
• พักผ่อนให้เพียงพอ
• หากพบว่าตนเองเผชิญกับความเครียด ความกดดันอย่างมากจนรู้สึกว่าไม่สามารถทนกับสถานการณ์เดิมได้ ควรเริ่มจัดการกับปัญหา มองหาตัวช่วย หรือหากปัญหานั้นยังไม่สามารถแก้ไขได้ ควรเน้นทำกิจกรรมที่ช่วยให้ความเครียดลดลงก่อน
• ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีอาการไบโพลาร์ หรือมีความเครียดสูงสามารถรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้
ที่มา : โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์ ,ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,โรงพยาบาลธรรรมศาสตร์ เพจรวบรวมความรู้ด้านจิตเวชที่มีประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วไป ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ,กรมสุขภาพจิต
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกสุขภาพจิต
สถานที่
อาคาร 4 ชั้น 1
เวลาทำการ
08:00 - 17:00 น.
เบอร์ติดต่อ
055-90-9000 ต่อ 520101, 520102