Header

เส้นเลือดขอด

07 กรกฎาคม 2567

นพ.หลักชัย วิชชาวุธ นพ.หลักชัย วิชชาวุธ

เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด (Varicose veins)

เส้นเลือดขอดเป็นอาการแสดงแบบหนึ่งในกลุ่มภาวะหลอดเลือดดำบกพร่อง (Chronic Venous Disoders) ซึ่งมีอาการแสดงได้หลายอย่าง มักเป็นภาวะที่เกิดจากการทำงาน พบมากในกลุ่มอาชีพที่ต้องยืนนานๆ เช่น อาชีพครู พยาบาล พนักงานต้อนรับ หรืออาชีพที่ต้องนั่งนานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศ รวมไปถึงการมีวิถีชีวิตที่ไม่มีกิจกรรมให้ต้องเคลื่อนไหวมากนัก เช่น ในผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น เหล่านี้สามารถนำไปสู่การมีภาวะเส้นเลือดขอดได้ โดยเส้นเลือดขอดอาจทำให้เกิดอาการเมื่อยน่อง รู้สึกหนักขา ขาอยู่ไม่สุข (restless leg) เป็นตะคริวตอนกลางคืน โดยมักมีอาการช่วงบ่ายๆหลังจากยืนหรือนั่งนานๆไปแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนเข้าสู่ภาวะหลอดเลือดดำเสื่อมเรื้อรัง (chronic venous insufficiency) ซึ่งมีอาการแสดงตามลำดับ คือ ขาหรือเท้าบวมเวลายืนนานๆ เป็นผื่นแสบร้อนที่หน้าแข้งและเป็นแผลจากหลอดเลือดดำเสื่อมเรื้อรังในที่สุด อย่างไรก็ตามในภาวะเส้นเลือดขอดบางครั้งไม่มีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นแต่ก็รบกวนคุณภาพชีวิตได้มาก เพราะ เส้นเลือดที่ปูดโปนทำให้เสียบุคคลิกภาพ ความมั่นใจในการเข้าสังคมและภาพลักษณ์ของตนเองเกิดปัญหาในชีวิตประจำวันได้

กลไกการเกิดอาการเมื่อยขา หนักขารวมไปถึงอาการอื่นๆที่เกิดจากเส้นเลือดขอดมีสาเหตุมาจากลิ้นหลอดเลือดดำซึ่งปกติจะทำหน้าที่กำหนดทิศทางให้เลือดไหลกลับเข้าสู่ร่างกายได้ทางเดียวนั้นเสื่อม ทำให้เลือดมีการไหลย้อนทางกลับไปที่ขาจึงเกิดภาวะความดันในหลอดเลือดดำที่ขาสูงขึ้น เลือดดำโดยปกติทำหน้าที่ลำเลียงของเสียและอนุมูลอิสระที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อจึงคั่งข้างอยู่ที่ขา ทำให้มีอาการเมื่อยล้า หนักขา ตะคริว หากไม่ได้รับการรักษา ของเสียและอนุมูลอิสระเหล่านี้จะกระตุ้นการอักเสบจนเกิดการอักเสบเป็นแผลได้

การรักษาเส้นเลือดขอด

การรักษาเส้นเลือดขอดมีหลายวิธีและมักต้องใช้มากกว่า 1 วิธี ในผู้รับการรักษาแต่ละรายดังนี้

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สาเหตุการเกิดเส้นเลือดขอดในผู้รับการรักษาแต่ละรายไม่เหมือนกัน เช่น บางรายเกิดจากน้ำหนักเกินก็อาจต้องให้ปรับเปลี่ยนตารางอาหารและออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก บางรายเกิดจากยืนนานก็อาจต้องให้มีการเปลี่ยนอิริยาบถจากการยืนเป็นนั่งหรือเดินบ้างในทุก 1ชั่วโมงของการยืน
  2. การออกกำลังกาย แนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อฝ่าเท้า น่องและต้นขา
  3. การใช้ยาในกลุ่มที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับผนังหลอดเลือดดำและมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ
  4. การใช้ถุงน่อง ในที่นี้เป็นถุงน่องปรับความดัน (Graduated compression stockings) ซึ่งตัวถุงน่องจะมีระดับความดันบริเวณข้อเท้าสูงที่สุดจากนั้นความดันจะลดลงเมื่อห่างจากข้อเท้าขึ้นไปเรื่อยๆ โดยทั่วไปการใช้ยากับการใส่ถุงน่องจะทำควบคู่กันเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพของยาสูงสุด โดยถุงน่องจะมีระดับความดันแตกต่างกันให้เลือกใช้ 4 ระดับ ตามความรุนแรงของภาวะเส้นเลือดขอด
  5. การรักษาโดยการผ่าตัด แบ่งออกเป็น

การรักษาเส้นเลือดขอดโดยการผ่าตัด

การรักษาเพื่อความสวยงาม ทำเพื่อเสริมความมั่นใจและบุคลิกภาพในภาวะเส้นเลือดขอดที่มาด้วยเส้นเลือดปูดโปนหรือมีเส้นเลือดฝอยตามขาทำให้เกิดความไม่สวยงามหรือทำควบคู่ไปกับการรักษาอาการเส้นเลือดขอด การรักษาจะขึ้นอยู่กับขนาดเส้นเลือดที่เป็นปัญหา หากขนาดเล็กสามารถรักษาโดยการฉีดยา (Sclerotherapy) เข้าไปในเส้นเลือดนั้นๆโดยตรง จากนั้นแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการรักษาสวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด (Graduated compression stockings) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายของยาและลดอาการปวดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากฉีดยา โดยการรักษาด้วยการฉีดยาอาจมีความจำเป็นต้องฉีดหลายครั้งขึ้นกับปริมาณมากน้อยของหลอดเลือดที่รักษาซึ่งแพทย์จะนัดมาประเมินหลังจากฉีดยาไปแล้วเป็นครั้งๆไป โดยมากจะทิ้งระยะห่างกันครั้งละ 2-4สัปดาห์ ในกรณีที่เส้นเลือดมีขนาดใหญ่การรักษาจะเปลี่ยนไปเป็นการรักษาโดยการผ่าตัดเล็ก (Ambulatory Phlebectomy) ผ่านแผลขนาด 2-3มิลลิเมตร โดยหลังผ่าตัดแพทย์จะให้สวมถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดเช่นเดียวกับการฉีดยาเพื่อลดรอยช้ำและอาการปวดที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้การรักษาเส้นเลือดขอดเพื่อความสวยงามจะเป็นการรักษาหลักในกรณีที่ไม่มีอาการอื่นๆของเส้นเลือดขอด เช่น เมื่อยขาเวลานั่งหรือยืนนานๆ ตะคริวกลางคืน ผื่นอักเสบที่หน้าแข้ง หรือแผลเรื้อรังจากเส้นเลือดขอด โดยหากมีอาการดังกล่าว แพทย์จะตรวจอัลตร้าซาวน์เพิ่มเติมก่อนการรักษาเพราะลำพังการรักษาข้างต้นที่กล่าวมาไม่อาจช่วยลดอาการที่เกิดจากเส้นเลือดขอดได้ การอัลตร้าซาวน์จะช่วยบ่งว่าต้องมีการรักษาอื่นเพิ่มเติมหรือไม่

การรักษาอาการของเส้นเลือดขอด เดิมทีรักษาโดยการผ่าตัด ผู้รับการรักษาจะมีแผลผ่าตัดที่ขาหนีบและด้านในของหัวเข่าโดยผู้รับการรักษาต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ปัจจุบันวิทยาการที่ก้าวหน้าทำให้สามารถรักษาอาการเส้นเลือดขอดผ่านสายสวนเป็นแบบผู้ป่วยนอกได้ โดยการใช้อุปกรณ์ใส่เข้าไปในเส้นเลือดทำให้ไม่ต้องผ่าตัด การรักษาผ่านสายสวนมีหลายรูปแบบโดยแบ่งเป็นการรักษาโดยใช้ความร้อนและไม่ใช้ความร้อน การรักษาโดยใช้ความร้อน (Thermoablation) เช่น การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser ablation) การรักษาด้วยคลื่นวิทยุหรือ RFA (Radiofrequency ablation) ส่วนการรักษาแบบไม่ใช้ความร้อน (Nonthermal ablation) เช่น การใช้กาวทางการแพทย์ (Adhesive vein ablation) การทำ MOCA (Mechanochemical ablation) การฉีดยาเข้าเส้นเลือดขอดหลัก (Truncal sclerotherapy) โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกการรักษาตามความเหมาะสมกับตัวผู้รับการรักษาเพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด

การรักษาเส้นเลือดขอดให้ได้ผลดีที่สุดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการซักประวัติและตรวจร่างกายรวมถึงอาจจะต้องตรวจด้วยอัลตร้าซาวน์อย่างละเอียด เพราะ ความคาดหวัง อาการและอาการแสดงของผู้รับการรักษาแตกต่างกัน วิธีการรักษาเส้นเลือดขอดจึงมีหลายแบบและอาจต้องใช้มากกว่า 1วิธี ในผู้ป่วยรายเดียว หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเส้นเลือดขอดจึงควรปรึกษาศัลยแพทย์หลอดเลือดผู้เชี่ยวชาญเพื่อตอบข้อสงสัย แนะนำวิธีป้องกันรวมถึงการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

หากมีคำถาม ข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาเส้นเลือดขอด โปรดปรึกษาแพทย์

ขอคำปรึกษา

 



ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

Surgery center

ศูนย์ศัลยกรรม

สถานที่

อาคาร 4 ชั้น 1

เวลาทำการ

08:00 - 17:00 น.

เบอร์ติดต่อ

055-90-9000 ต่อ 520401, 520402

แพทย์ประจำศูนย์

ศูนย์ศัลยกรรม

พญ.ศิวาพร ผลดีนานา

ศัลยแพทย์เต้านมและต่อมไร้ท่อ

ศูนย์ศัลยกรรม

พญ.มารินทร์ พลขันธ์

กุมารศัลยศาสตร์

ศูนย์ศัลยกรรม

นพ.ธนสิทธิ์ ประกอบผล

ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์