ต้อหิน โรคร้ายคุกคามการมองเห็น
07 กรกฎาคม 2567
ต้อหิน
ต้อหิน คือ กลุ่มโรคที่มีการเสื่อมของเส้นประสาทตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นในบริเวณรอบนอกก่อน หากไม่ได้รับการรักษาอาจสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้ในที่สุด
อาการต้อหิน
ต้อหินส่วนใหญ่มักไม่มีอาการในระยะเริ่มแรก สังเกตอาการผิดปกติได้ยาก ถ้าไม่ใช่โรคต้อหินฉับพลัน หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา ความกว้างของการมองเห็นจะค่อยๆ แคบลง จนคนไข้สังเกตพบการมองเห็นที่ผิดปกติ และหากไม่ได้รับการรักษาจนโรคดำเนินเข้าสู่ระยะสุดท้ายอาจสูญเสียการมองเห็นถาวรได้
กลุ่มเสี่ยงต้อหิน
- อายุมากกว่า 40 ปี
- ญาติสายตรงเป็นต้อหิน เช่น บิดา มารดา พี่น้อง
- ความดันลูกตาสูง
- สายตาสั้นหรือยาวมาก
- โรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคที่มีผลต่อการไหลเวียนเลือด หรือกลุ่มโรคทางกายที่มีการอักเสบที่ดวงตาร่วมด้วย เช่น โรคข้อรูมาตอยด์
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- การได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตามาก่อน
- โรคตาบางชนิด เช่น เบาหวานขึ้นจอประสาทตา การอักเสบภายในลูกตา
การวินิจฉัยต้อหิน
- ตรวจวัดระดับการมองเห็น
- การตรวจตาทั่วไปด้วยเครื่อง Slit lamp microscope
- การวัดความดันตา
- การตรวจขั้วประสาทตา
- การตรวจดูมุมตา
- การวัดความหนาของกระจกตา
- การตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อประเมินการทำงานของขั้วประสาทตา เช่น การถ่ายภาพขั้วประสาทตา การตรวจขั้วประสาทตาด้วยเครื่องแยกชั้นจอตา การตรวจลานสายตาด้วยเครื่องวัดลานสายตาอัตโนมัติ
การรักษาต้อหิน
- การใช้ยา เช่น ยาหยอดลดความดันตา
- การใช้เลเซอร์ จักษุแพทย์จะเลือกเลเซอร์ที่เหมาะกับชนิดของต้อหินและระยะของโรค
- การผ่าตัด
โดยทั่วไปมักเริ่มการรักษาด้วยการใช้ยา ยกเว้นในผู้ป่วยบางรายที่มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้เลเซอร์ สามารถเริ่มการรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ในทันที หากไม่สามารถควบคุมความดันตาหรือการดำเนินของโรคได้ด้วยยาหรือ เลเซอร์ จึงพิจารณาการผ่าตัด
การป้องกันต้อหิน
โรคต้อหิน เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แนะนำบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แม้ไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ
หากมีคำถาม ข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาต้อหิน โปรดปรึกษาแพทย์