พัฒนาการเสริมสร้างศักยภาพสมอง 7 ปีแรก ของลูกน้อยอยู่ในมือคุณ
ทำไม? คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญกับพัฒนาการ
เด็กแรกเกิดถึงอายุ 7 ปี จัดได้ว่าเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะนอกจากร่างกายจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว สมองเด็กก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยเช่นเดียวกัน จากการวิจัยพบว่าในช่วงวัยนี้สมองเด็กจะเจริญเติบโตสูงถึงรัอยละ 80 ของการพัฒนาสมองทั้งหมด หากเด็กๆ มีพัฒนาการที่ปกติตามวัย ก็จะทำให้เกิดทักษะต่างๆ เช่น สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเองได้ดี มีความริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างได้ดี ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานของเด็กที่ทำให้สามารถพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่ซับซ้อนขึ้นได้ ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เช่น การเลียนแบบ การพูด การเขียน การอ่าน การเล่น การควบคุม และแสดงออกทางอารมณ์ได้ตามช่วงวัย ฯลฯ
พัฒนาการของเด็ก แบ่งออกเป็น 5 ด้านใหญ่ ๆ คือ
- พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor) ได้แก่ ทักษะ การเคลื่อนไหวต่างๆ การกระโดค กางปีนป่าย การควบคุม การทรงท่า การโยน - รับบอล ฯลฯ
- พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor) ได้แก่ การใช้มือ เช่น การหยิบจับ การเขียน รวมถึงสหสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ ฯลฯ
- พัฒนาการด้านการรับรู้ – ความคิด (Perception& Cognition) ได้แก่ ทักษะความจำ ความเข้าใจสิ่งต่างๆ กระบวนการคิด วิเคราะห์ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ฯลฯ
- พัฒนาการด้านภาษา (Language) ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร ความเข้าใจภาษา และการใช้ภาษาตามวัย ฯลฯ
- พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ (Social & Emotional) ได้แก่ ทักษะการเข้าสังคม การควบคุมอารมณ์ การเคารพกฎกติกา
เด็กปกติทั่วไปจะมีลำดับขั้นของพัฒนาการใกล้เคียงกัน ถ้าเด็กมีพัฒนาการล่าช้าเกิน 6 เดือนขึ้นไป ถือว่ามีความผิดปกติบางอย่างที่ต้องรีบช่วยเหลือ และกระตุ้นพัฒนาการอย่างเร็วที่สุด
"การเล่น" นั้นสำคัญไฉน ?
การเล่นถือเป็นสื่อสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก เพราะนอกจากจะให้ความสนุก เพลิดเพลินแล้ว ยังช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ถ่ายทอดหรือแสดงอารมณ์ทุกรูปแบบทั้งโกรธ เกลียด อิจฉา ไม่พอใจ หรือสนุก ปลาบปลื้ม โดยเด็กจะค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจความหมายของสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความสุข ความยุติธรรม การรอคอยจากการเล่น เป็นต้น
"กิจกรรมบำบัด" คืออะไร ?
กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) เป็นการประยุกต์กิจวัตรหรือกิจกรรมมาใช้ในการตรวจประเมิน วินิจฉัย ส่งเสริม บำบัดรักษา และพื้นฟูสมรรถภาพให้สามารถกลับไปดำรงชีวิตในสังคมได้ ช่วยเสริมสร้างสมาธิ ทักษะการคิด พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งหน้าที่ของนักกิจกรรมบำบัด คือ การนำกิจกรรมการเล่นต่าง ๆ ที่มีการบูรณาการรับรู้ความรู้สึก (Sensory Integration) มาเป็นสื่อกลางในการกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้เหมาะสมในแต่ละรายบุคคลให้เต็มศักยภาพตามสภาพปัญหาของแต่ละคน
จะทราบได้อย่างไรว่าลูกมีพัฒนาการสมวัยหรือไม่ ?
เราสามารถรู้ได้ว่า ลูกน้อยของเรามีพัฒนาการไปถึงไหนแล้ว ทำได้โดย "การตรวจประเมินพัฒนาการ" ซึ่งหากเด็กบางคนเริ่มมีการเบี่ยงเบนทางพัฒนาการที่ไม่รุนแรง หรือมีพัฒนาการล่าช้าในระยะแรกเริ่ม การที่ผู้ปกครองได้รู้ถึงพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยจะเป็นการช่วยค้นพบปัญหา รวมถึงสามารถรับคำแนะนำในการส่งเสริมพัฒนาการได้อย่างทันท่วงที
โปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการเสริมสร้างศักยภาพสมอง
- กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการ ในเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าหรือเด็กมีความบกพร่องทางด้านร่างกาย สติปัญญา ภาษา อารมณ์และสังคม
- กิจกรรมพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ในเด็กปกติ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ กระบวนการคิด การควบคุมตนเอง การจัดการตัวเอง และความเชื่อมั่นในตนเอง
- กิจกรรมกลุ่ม สำหรับการพัฒนาทักษะด้านสังคม การเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการช่วยเหลือตนเอง
พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กและความรู้ต่าง ๆ สำหรับผู้ปกครองในการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการ
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
สถานที่
อาคาร 5 ชั้น 4
เวลาทำการ
08:00 - 17:00 น.
เบอร์ติดต่อ
055-90-9000 ต่อ 521301, 521302