Header

ต้อกระจก (Cataract)

cataract

ต้อกระจก คือ เลนส์แก้วตาหรือเลนส์ตามีความขุ่นเกิดขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาไม่ได้ ส่งผลให้มีอาการตามัวลง แต่ไม่ปวด เวลาอยู่ในที่มืดจะมองเห็นได้ดีกว่าอยู่ในที่มีแสงสว่าง เลนส์ตาคนเราปกติแล้วจะใส แต่เมื่ออายุมากขึ้นความใสจะลดลงโดยเฉพาะอายุ 50 ปีขึ้นไป แรก ๆ เลนส์ตาจะเริ่มเป็นสีเหลืองใส เหลืองทึบมากขึ้น จนเป็นสีน้ำตาล แล้วเป็นสีขาวขุ่นทึบ เมื่อเลนส์ตาใสน้อยลง แสงก็เข้าตาได้น้อยลงไปด้วย ทำให้ตามองเห็นได้ลดลงเรื่อย ๆ จนถึงเหลือแค่มองเห็นแต่แสง โดยจะไม่มีอาการปวดตา นอกจากว่าถ้ามีต้อหินแทรกซ้อนในคนที่เป็นต้อกระจกมากจึงจะมีอาการปวดตาได้

 



ต้อกระจกส่วนมากเกิดจากภาวะเสื่อมของเลนส์ตาตามธรรมชาติตามอายุที่มากขึ้น ไม่ได้เป็นโรคติดต่อหรือเป็นกรรมพันธุ์ เริ่มพบเมื่อประมาณอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่จะเป็นเร็วเป็นช้าไม่เท่ากัน คนเป็นเบาหวานอาจทำให้เป็นโรคต้อกระจกเร็วขึ้น การใส่คอนแทคเลนส์ไม่ได้ทำให้เป็นต้อกระจกมากขึ้น สาเหตุอื่น ๆ ของต้อกระจก นอกจากความเสื่อมตามธรรมชาติ ได้แก่

  • โรคบางชนิด เช่น เบาหวาน
  • ได้รับยาสเตียรอยด์
  • อุบัติเหตุ มีการกระแทกที่ตา หรือมีสิ่งแปลกปลอมทะลุเข้าตา
  • กรรมพันธุ์ หรือเด็กแรกเกิดที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัดเยอรมันในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
  • เด็กที่ขาดสารอาหาร ทำให้เกิดแผลที่ตาดำ และลุกลามไปถึงแก้วตา
  • ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด หรือรังสีเอกซเรย์
  • สารเคมีจำพวกต่างเข้าตา
  • ไฟฟ้าช็อตบริเวณศีรษะรวมถึงฟ้าผ่า
  • สูบบุหรี่
  • มีการอักเสบในลูกตา
  • ผู้ที่มีอาชีพเชื่อมโลหะ ตัดเหล็ก ที่ไม่ใส่หน้ากากป้องกันแสงหรือรังสีเข้าตา
  • เป็นโรคส่วนอื่นในลูกตาแล้วมีผลทำให้แก้วตา ได้รับอาหารไม่เพียงพอ ต่อมาแก้วตาก็จะขุ่นขึ้น

คือ เป็นต้อกระจกตั้งแต่ช่วงอายุไม่เกิน 3 เดือน อาจเป็นเองโดยไม่มีสาเหตุ หรือเป็นต้อกระจกแบบถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเด็กเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) นอกจากนี้อาจเป็นได้จากมารดาขณะตั้งครรภ์ได้รับรังสีเอกซเรย์ ได้รับยาสเตียรอยด์ ยาซัลฟา มารดาเป็นเบาหวาน หรือมารดาติดเชื้อหัดเยอรมัน ระหว่างตั้งครรภ์

ตามัวอาจเกิดจากสาเหตุได้หลายโรค ซึ่งจากการซักประวัติ อาจแยกสาเหตุของตามัวได้ ดังนี้

  1. ตามัวเหมือนมีหมอก หรือฝ้าบัง มักเกิดจากโรคต้อกระจก
  2. ตามัวเหมือนถ่ายรูปไม่ชัด มักเกิดจากภาวะสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง
  3. ตามัวเป็นภาพซ้อน มักเกิดจากภาวะเห็นภาพซ้อน จากโรคระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อตาทำงานผิดปกติ
  4. ตามัวเหมือนมีม่านดำบัง อาจเกิดจากโรคจอประสาทตาลอกหรือเสื่อม หรือโรคต้อหินชนิดเรื้อรังได้

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาต้อกระจกให้หายได้ การรักษาใช้วิธีการผ่าตัด หรืออาจเรียกว่า ลอกต้อกระจก เพื่อให้ฟังไม่น่ากลัว
 

การผ่าตัดต้อกระจก เป็นการนำเอาเลนส์ตาที่ขุ่นออกไป แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมซึ่งจะมีลักษณะใสกลมแบนเข้าไปแทน

1. การผ่าตัดโดยใช้เครื่องสลายต้อกระจก แผลผ่าตัดจะเล็ก ประมาณ 3 - 3.5 มม. ใช้เครื่องมือที่มีคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปสลายเลนส์ตาและดูดออกมาทางแผลผ่าตัดที่เล็กนี้ แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน แผลผ่าตัดไม่ต้องเย็บ ปล่อยให้หายเองได้ การพื้นตัวของตาจะเร็ว
2. การผ่าตัดโดยไม่ใช้เครื่องสลายต้อกระจก ซึ่งแผลผ่าตัดจะกว้างประมาณ 9 มม. การฟื้นตัวหลังผ่าตัดจะนานกว่า แต่ผลการผ่าตัดไม่ต่างกับวิธีใช้เครื่องสลายต้อกระจก

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดของการผ่าตัด หรืออาจเรียกว่า การลอกต้อกระจก คือ การใช้คลื่นความถี่สูง (อัลตร้าซาวด์) การผ่าตัดต้อกระจกไม่ต้องดมยาสลบ ใช้เพียงการหยอดยาชา หรืออาจฉีดยาชาร่วมด้วย มีความรู้สึกเจ็บน้อยมาก โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ผ่าตัดเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย วันรุ่งขึ้นสามารถเปิดตาได้ ตาข้างที่ผ่าตัดต้อกระจกแล้วจะไม่มีการเป็นต้อกระจกซ้ำอีก แต่ถ้าหลังการผ่าตัดแล้วตาข้างนั้นมีอาการตามัวอีก อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ถุงหุ้มเลนส์ตาขุ่น โรคจอประสาทตาเสื่อม หรือโรคต้อหิน เป็นต้น
ต้อกระจกหากปล่อยให้เป็นมากและไม่ได้รักษาหรือรักษาโดยหมอเถื่อนที่ไม่ใช่แพทย์ เช่น การเดาะเลนส์ (couching) ซึ่งเป็นการใช้เข็มดันเลนส์ตาให้หลุดเข้าไปในลูกตาโดยหมอเถื่อน แล้วให้ใส่แว่นหนาๆ ทำให้สามารถมองเห็นได้ แต่ต่อมามักเกิดโรคต้อหิน หรือจอประสาทตาลอกหลุด ทำให้ตาบอดได้
 

เมื่อเป็นต้อกระจกแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทันที แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเมื่อได้ประโยชน์ที่คุ้มค่า ได้แก่ กรณีต่อไปนี้
1. เมื่อมีสายตามัวมากจากต้อกระจก จนดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่สะดวก และต้องการเห็นชัดขึ้น
2. เมื่อต้อกระจกขุ่นมากจนบังการตรวจจอประสาทตาเพื่อประเมินโรคของตาโดยจักษุแพทย์ เช่น ผู้เป็นต้อกระจกที่มีเบาหวานร่วมด้วย หรือมีต้อหินร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจจอประสาทตาเป็นประจำ
3. เมื่อต้อกระจกสุก เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นต้อหิน หรือมีการอักเสบของลูกตาตามมา

เลนส์แก้วตาเทียม มีหลายชนิด ทั้งชนิดแข็งพับไม่ได้ และชนิดพับได้ (ซึ่งจะมีราคาสูงกว่า สำหรับใช้ในกรณีการผ่าตัดที่แผลผ่าตัดขนาดเล็ก) และมีทั้งชนิดโฟกัสระยะเดียว โฟกัสหลายระยะ แต่การพิจารณาเลือกการใช้เลนส์ชนิดใด จักษุแพทย์จะเลือกให้ตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ปัจจุบันเทคโนโลยีในการผลิตเลนส์แก้วตาเทียมมีความก้าวหน้า มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ใส่แล้วคล้ายธรรมซาติ ไม่ต้องการการดูแลรักษาใด ๆ และสามารถใช้เลนส์แก้วตาเทียมนั้นได้ตลอดอายุของผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมอีก

  1. ห้ามน้ำเข้าตาข้างที่ผ่าตัดประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อรอให้แผลติดสนิท ควรใช้วิธีการเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า และนอนหงายสระผม
  2. ห้ามขยี้ตาข้างที่ผ่าตัดประมาณ 4 สัปดาห์ ดังนั้นหลังผ่าตัด วันรุ่งขึ้นให้เปิดตาได้ และใช้สำลีชุบน้ำสะอาด (หรือน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว) บีบสำลีให้แห้ง เช็ดรอบบริเวณขอบตา เพื่อเช็ดยาและขี้ตาออก เริ่มหยอดยาที่ได้รับ ประมาณวันละ 5-6 ครั้ง ตอนกลางวันหากไม่ต้องการครอบพลาสติกปิดตา อาจใส่แว่นเพื่อป้องกันการเผลอขยี้ตา ตอนนอนให้ครอบพลาสติกเพื่อป้องกันการเผลอขยี้ตาขณะนอนหลับ
  3. หลังผ่าตัด หมอกฝ้าขาว ๆ จะหายไป แต่อาจยังเห็นภาพไม่ชัดคล้ายถ่ายรูปไม่ชัด การมองเห็นภาพจะชัดขึ้นทุก ๆ วัน จนผ่านไปประมาณ 1-2 เดือน แพทย์จะวัดสายตา เพื่อให้ผู้ป่วยพิจารณาว่าต้องการใส่แว่นเพิ่ม เพื่อให้ภาพคมชัดขึ้นหรือไม่
  4. ยาแก้อักเสบที่ได้กลับไป ให้เริ่มทานได้ตั้งแต่วันผ่าตัดจนยาหมด ส่วนยาแก้ปวดให้ทานเฉพาะเมื่อปวดตา ยาประจำตัวที่เคยทานอยู่เดิมให้ทานตามปกติ
  5. เย็นวันผ่าตัด ควรนอนพักผ่อน ลุกขึ้นเดินได้เท่าที่จำเป็น เช่น ทานอาหาร เข้าห้องน้ำ วันหลังจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงงานหนัก การไอหรือจามอย่างรุนแรง หรือกระเทือนมาก หรือการยกของหนัก ประมาณ 2-3 สัปดาห์
  6. รับประทานอาหารได้ปกติเหมือนก่อนผ่าตัด และไปพบแพทย์เพื่อตรวจหลังการผ่าตัดตามนัด
  7. กรณีมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดงมากขึ้นหลังจากปิดตา ปวดตามาก หรือตาที่เคยชัดกลับมัวลงอีก หรือ เผลอขยี้ตา ให้ไปพบแพทย์ทันที

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดแต่พบได้น้อย คือ การติดเชื้อ หรือเลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่เข้าไปเลื่อนหลุดจากที่ เป็นต้น ดังนั้นควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลอย่างเคร่งครัด ทั้งก่อนและหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว ผู้ป่วยจะมองเห็นชัดขึ้นนอกจากการมองใกล้ ในผู้สูงอายุอาจต้องสวมแว่นตาอ่านหนังสือและควรตรวจตาปีละครั้ง หรือทุกครั้งที่มีอาการผิดปกติ

โดยทั่วไปหลังการผ่าตัดต้อกระจกยังต้องตรวจระดับสายตา ว่ายังจำเป็นต้องใส่แว่นเพื่อเห็นภาพคมชัดขึ้นอีกหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สายตาเพื่ออ่านหนังสือ มักต้องใช้แว่นอ่านหนังสือเช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี ที่ยังไม่ได้ผ่าต้อกระจก เพราะเลนส์แก้วตาในผู้ที่อายุมากขึ้นและเลนส์แก้วตาเทียมจะไม่มีความยืดหยุ่น ทำให้ไม่สามารถเพ่ง (accommodation) ได้เอง ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือช่วย แต่โดยทั่วไปต้องรอระยะเวลาหลังผ่าตัดแล้ว 1-2 เดือน เพื่อรอให้สายตาหลังผ่าตัดเริ่มเข้าที่ จักษุแพทย์จึงจะวัดระดับสายตาให้

แหล่งที่มา : ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

คลินิกจักษุ | โรงพยาบาลพิษณุเวช

แผนกจักษุ

สถานที่

อาคาร 6 ชั้น 3

เวลาทำการ

08:00 - 17:00 น.

เบอร์ติดต่อ

055-90-9000

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์