Header

ลดเสี่ยงเลี่ยงโรคมะเร็ง

พญ.วีรนุช	รัตนเดช พญ.วีรนุช รัตนเดช

ลดเสี่ยงเลี่ยงโรคมะเร็ง

ปัจจุบันประชาคมโลกได้ให้ความสำคัญกับโรคมะเร็งมากขึ้น ในแต่ละปีโรคมะเร็งได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกในอัตราที่สูงมากขึ้น เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคมะเร็ง รวมถึงรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากลกำหนดให้ ทุกวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) หลังจากพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชาคมโลก โรคมะเร็ง  เป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของคนไทย ถึงแม้โรคมะเร็งจะเกิดจากหลายสาเหตุทั้งที่สามารถป้องกันได้และไม่สามารถป้องกันได้ แต่ด้วยพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมในปัจจุบัน มีการแข่งขันเร่งรีบ และการรับประทานอาหารไม่ถูกหลัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

โรคมะเร็ง เป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ มีการแบ่งตัวอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดเนื้อร้ายแพร่ไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งการแพร่กระจายทางน้ำเหลือง หรือแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเริ่มมีอาการแสดง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งปอดอาจแสดงอาการไอ หรือเริ่มมีอาการปอดอักเสบ อาการของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจมีการถ่ายอุจจาระผิดปกติ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอาจคลำพบก้อนบริเวณเต้านม เป็นต้น

โรคมะเร็ง สามารถป้องกันได้

ด้วยการเริ่มต้นที่ตัวเราเอง โดยควรดำเนินชีวิตให้ห่างไกลจากความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดเนื้อร้าย และสิ่งสำคัญหากสงสัยว่ามีอาการผิดปกติหรือเข้าข่ายอาการของโรคมะเร็ง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรก การตรวจพบรอยโรคเร็วจะสามารถป้องกันไม่ให้โรคลุกลามหรือรักษาให้หายขาดได้

 

ข้อควรปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง คือ

  • เลี่ยงการสูบบุหรี่

งดดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งช่องปาก ในแต่ละปี มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในบรรดามะเร็งชนิดต่าง ๆ ทั้งหมด การเลิกสูบบุหรี่อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเลิกได้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครั้งสำคัญที่สุด ที่จะลดความเสี่ยงจากมะเร็งปอดและโรคอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากบุหรี่ ทั้งนี้สามารถขอคำปรึกษาการเลิกบุหรี่จากแพทย์ได้ ทั้งการรักษาด้วยยาหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะช่วยทำให้เลิกบุหรี่ได้อย่างถาวร

  • เลี่ยงอาหารรสจัด

อาหารหมักดอง เพราะทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • เลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์รมควัน

ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม อาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยสารก่อมะเร็ง การกินอาหารปิ้งย่างบ่อย ๆ หรือ กินเป็นประจำต่อเนื่อง ก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี 

  • เลี่ยงอาหารที่ใส่ดินประสิว (ไนเตรท) หรือ สารกันเสีย เนื้อสัตว์แปรรูป

เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม กุนเชียง แหนม หากเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือรับประทานเป็นประจำ อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น หลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • เลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด อาหารสุกๆ ดิบ ๆ

เช่น ก้อยปลา ปลาจ่อม อาจทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ หรือสารพิษจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด ทำให้เสี่ยงต่อเกิดมะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี 

  • เลี่ยงการรับมลพิษ ฝุ่นควัน สารพิษ สารเคมี สารจำพวก ยาฆ่าแมลง

น้ำยาทำความสะอาด น้ำมันเบนซิน เต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายที่เป็นตัวการสำคัญก่อให้เกิดมะเร็งได้ แม้การควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การจำกัดหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเหล่านี้ ในบ้านหรือที่ทำงาน จะช่วยลดโอกาสในการสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารกันไฟ หรือ PBDE ซึ่งมักจะใช้กับผ้า เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าอิเล็กโทรนิกต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการเผาไหม้จากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะ เผาหญ้า เผาเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน รวมถึงช่วงเวลาที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศสูง หากมีความจำเป็นต้องอยู่ในบริเวณดังกล่าวควรป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นควัน

  • เลี่ยงการได้รับแสงแดดจัดหรือแสงแดดโดยตรง

โดยไม่ได้รับการป้องกันนานเกินไป แสงแดดที่มีความร้อนสูงและรังสียูวี เป็นอันตรายต่อเซลล์และเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งผิวหนัง ควรป้องกันโดยหลีกเลี่ยงการตากแดดในเวลาแดดจัดนานเกินไป หรือทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง พยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยตรงในช่วง เวลา 10.00 - 16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่รังสียูวีมีความเข้ม สูงสุด สวมใส่เสื้อผ้าและใช้อุปกรณ์กันแดดที่เหมาะสม

 

การตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังตนเองจากโรคมะเร็ง

เราสามารถเฝ้าระวังตนเองจากโรคมะเร็งเบื้องต้น ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และผู้ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไปหรือผู้ที่มีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง ได้แก่

• มะเร็งเต้านม - แนะนำให้ผู้หญิงตรวจคัดกรอง โดยคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ และการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)

• มะเร็งปอด - แนะนำตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในคนอายุมากกว่า 55 ปี ที่สูบบุหรี่วันละประมาณ 1 ซอง มาเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี และหยุดสูบบุหรี่ไม่เกิน 15 ปี คัดกรองโดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดรังสีปริมาณต่ำ Low-Dose CT

มะเร็งลำไส้ใหญ่ - แนะนำในคนทั่วไป อายุตั้งแต่ 45-50 ปี ตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ หรือตรวจคัดกรองด้วยการตรวจหาเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระ

• มะเร็งต่อมลูกหมาก - แนะนำในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป ตรวจคัดกรองโดยการตรวจเลือดดูค่ามะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)

• มะเร็งตับ - ผู้ที่มีภาวะตับอักเสบหรือผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี ควรตรวจคัดกรองโดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen) และการตรวจค่ามะเร็งตับ (AFP)

• มะเร็งช่องปาก - ควรตรวจสุขภาพฟันและช่องปากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูแลเหงือก ฟัน และความผิดปกติในช่องปาก หรือสังเกตรอยโรคด้วยตนเอง เป็นต้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ เพราะการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ รวมทั้งการดูแลตนเองให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ สะอาดถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้

ที่มา : กรมอนามัย 



ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์มะเร็งพิษณุเวช ฮอไรซัน

สถานที่

เวลาทำการ

เบอร์ติดต่อ

055-90-9000 ต่อ 520101, 520102

แพทย์ประจำศูนย์

ศูนย์มะเร็งพิษณุเวช ฮอไรซัน

พญ.วีรนุช รัตนเดช

อายุรแพทย์โรคมะเร็ง

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์