Header

ปวดหัวบ่อย อาการเสี่ยงโรคเนื้องอกสมอง

12 กรกฎาคม 2567

นพ.เจษฎา ศรีกุลศศิธร นพ.เจษฎา ศรีกุลศศิธร

โรคเนื้องอกสมอง

ปวดหัวบ่อย ปวดเรื้อรัง
สัญญาณเตือนเสี่ยง "โรคเนื้องอกสมอง"

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า 50-75% ของคนทั่วไปที่อายุระหว่าง 18 - 65 ปี อาจจะมีอาการปวดศีรษะอย่างน้อยหนึ่งครั้งในหนึ่งปี นอกจากนี้ยังพบว่า 4% ของประชากรทั่วโลกมีอาการปวดศีรษะแบบเรื้อรัง แต่จากข้อมูลในปี 2559 พบว่ามีผู้ป่วย 330,000 คน ที่มีมะเร็งสมองหรือในไขสันหลัง จะเห็นได้ว่าแม้อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบบ่อยของเนื้องอกสมอง แต่ก็อาจจะมีสาเหตุจากอื่น ๆ ด้วย

จากข้อมูลของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคเนื้องอกสมองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และเป็น 1 ใน 5 ลำดับโรคแรกของสถาบันฯ อาการของเนื้องอกสมอง ทั้งเนื้องอกธรรมดาและเนื้อร้าย จะมีอาการแสดงโดยทั่วไปคล้ายกัน เช่น ปวดศีรษะ มักเป็นอาการเริ่มต้นของการเกิดเนื้องอกสมอง ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเนื้องอกสมองมักมีอาการปวดศีรษะตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรงมาก และปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่จะเกิดตอนเช้าหลังตื่นนอน เนื่องจากหลอดเลือดสมองถูกกดหรือถูกดึงรั้งจากเนื้องอก อาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบายในท้อง มักมีอาการตอนเช้าซึ่งไม่สัมพันธ์กับมื้ออาหาร

ปวดหัวสัญญาณเตือนของโรคเนื้องอกสมอง

เนื้องอกสมองอาจมีอาการสัญญาณเตือน ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน การมองเห็น ความจำ อาจมีอาการชัก อัมพาตครึ่งซีก หรือลุกลามเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

เนื้องอกสมอง คืออะไร

เนื้องอกสมอง คือ เนื้อเยื่อที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ภายในสมองหรือเนื้อเยื่อและต่อมต่าง ๆ บริเวณโดยรอบเนื้อสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท โดยขึ้นกับชนิด ขนาด และตำแหน่งที่เกิด เช่น หากเกิดในตำแหน่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวแขน ขา อาจทำให้แขนขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก หากเนื้องอกสมองเกิดในตำแหน่งที่เกี่ยวกับการมองเห็น อาจทำให้เห็นภาพเบลอ หรือตำแหน่งอื่น ๆ อาจมีอาการชัก มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน ความจำ และหากเนื้องอกนั้นมีขนาดใหญ่หรือเพิ่มแรงดันในสมอง กดเบียดรั้งเยื่อหุ้มสมอง อาจจะทำให้มีอาการปวดหัว อาเจียนพุ่งได้

เนื้องอกสมองแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก

1. เนื้องอกสมองที่เป็นเนื้อธรรมดา (Benign Brain Tumors)

เกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมในเซลล์สมอง หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์ ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวและเติบโตในอัตราที่ผิดปกติ แต่ไม่อันตราย (ระดับ 1–2) มีการเติบโตช้า ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง หากมีขนาดใหญ่อาจต้องผ่าตัดเพื่อทำการรักษา สามารถรักษาให้หายหรือมีขนาดเล็กลงได้ และมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นอีกหลังการรักษา

2. เนื้องอกสมองที่เป็นเนื้อร้าย (Malignant Brain Tumors)

เนื้องอกอาจเริ่มก่อตัวขึ้นที่สมอง หรือมีเซลล์มะเร็งที่อวัยวะอื่นแล้วแพร่กระจายเข้าสู่สมองทางกระแสเลือด ทำให้เกิดเป็นเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย คือ เซลล์มะเร็ง และอันตราย (ระดับ 3–4) เนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งจะมีการเจริญเติบโตเรื่อย ๆ ควบคุมได้ยาก สร้างความเสียหายแก่ร่างกายมากกว่าเนื้องอกธรรมดา อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีกหลังการรักษา โดยทั่วไปเนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งจะพบได้บ่อยกว่าเนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดา

ในหลาย ๆ กรณี การจะบอกว่าเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงหรือชนิดร้ายนั้น แยกกันได้ไม่ชัดเจน เช่น ถึงแม้จะเป็นเนื้องอกสมองชนิดไม่ร้ายแรงแต่ถ้าเนื้องอกนั้นไม่สามารถผ่าตัดรักษาได้ ก็เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้เช่นเดียวกับมะเร็ง หรือตัวเนื้องอกนั้นถึงแม้จะเป็นชนิดดีในระยะแรก แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นชนิดร้ายหรือมะเร็งได้ในภายหลัง เป็นต้น

สาเหตุของเนื้องอกสมอง

เนื้องอกเกิดขึ้นเมื่อ DNA ของเซลล์ที่แข็งแรงเปลี่ยนหรือกลายพันธุ์ในลักษณะที่ทำให้เซลล์เติบโตอย่างรวดเร็วผิดปกติ ทำให้เกิดเนื้องอกและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะดังต่อไปนี้

  1. โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง
  2. การฉายรังสีเพื่อรักษาโรคบริเวณศีรษะและลำคอ อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นเนื้องอกสมองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ไม่รวมการฉายรังสีเพื่อวินิจฉัยหรือเอกซเรย์ทั่ว ๆ ไป ซึ่งขนาดรังสีต่ำมาก จะไม่สามารถทำให้เกิดเป็นเนื้องอกสมองได้
  3. ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีรายงานว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเนื้องอกสมอง แต่ยังสรุปได้ไม่ชัด เช่น ภูมิแพ้ อาหาร การติดเชื้อบางชนิด การบาดเจ็บที่สมอง ควันบุหรี่ สารเคมี สารพิษจากสิ่งแวดล้อม

อาการของเนื้องอกสมอง

สมองทำหน้าที่ควบคุมการทำงานเกือบทุกหน้าที่ของร่างกาย เช่น การคิด พูด ฟัง อ่าน เขียน ความจำ คำนวน อารมณ์ ควบคุมการขยับเคลื่อนไหว การเดิน การทรงตัว การได้กลิ่น การมองเห็น การได้ยิน การรับรู้ความรู้สึกจากสัมผัส การกิน การกลืน การควบคุมขับถ่าย

นอกจากนี้สมองยังทำหน้าที่ควบคุมระบบต่าง ๆ อีกหลายๆ อย่างอยู่ตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้สึกตัวว่าสมองกำลังทำงานอยู่ เช่น ความรู้สึกตัว การหายใจ การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ และควบคุมระบฮอร์โมน เป็นต้นดังนั้นอาการของเนื้องอกสมองจึงมีได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเนื้องอกสมองนั้นเกิดขึ้นที่สมองส่วนที่ทำหน้าที่ใด อาการที่พบบ่อย เช่น

  1. ชัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชักครั้งแรกในวัยผู้ใหญ่โดยไม่มีปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เช่น บาดเจ็บที่ศีรษะ อาการชักอาจเป็นการเกร็ง นิ่งไปเฉย ๆ หรือหมดสติ ก็ได้
  2. ปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะที่สงสัยเนื้องอกสมอง เช่น ปวดศีรษะร่วมกับอาการอาเจียน ปวดศีรษะมาก ปวดมากตอนกลางคืนหรือเช้ามืด
  3. แขนขาอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก
  4. การฟัง พูด อ่าน เขียน ผิดปกติ
  5. ตามัว เห็นภาพซ้อน
  6. ความคิดช้าลง
  7. พฤติกรรมผิดปกติไป ทำอะไรแปลก ๆ โดยไม่รู้ตัว หรือไม่เคยทำมาก่อน
  8. ซึมลง

อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จากโรคของสมองอื่น ๆ อีกหลายอย่างซึ่งไม่ใช่เนื้องอกสมองสมอง ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการเหล่านี้

การตรวจวินิจฉัยเนื้องอกสมอง

ในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกาย และทำการทดสอบทางประสาทวิทยาก่อน เช่น ตรวจทัศนวิสัย ในการมองเห็น การได้ยิน การทรงตัว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกาย

หากแพทย์พบอาการป่วยที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยโรคหรือสาเหตุอย่างอื่น แพทย์อาจส่งตรวจหาเนื้องอกสมองด้วยการสแกนสมอง ซึ่งเป็นการฉายภาพงสีให้เห็นสมองและพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ภายใน เช่น

  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
  • การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • เทคโนโลยีทางด้านรังสีวิทยาใช้ในการตรวจผู้ป่วยมะเร็ง PET Scan

ในกรณีที่ตรวจพบเนื้องอกสมอง แพทย์อาจส่งตรวจอวัยวะอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เพื่อหาตำแหน่งของเซลล์มะเร็งที่อาจแพร่ลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ต่อไปได้ แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อบางส่วน (Biopsy) ไปตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อว่าเป็นเนื้องอกที่อยู่ในขั้นและระดับความรุนแรงใด เป็นเนื้อร้ายหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

วิธีการรักษาเนื้องอกสมอง

การรักษาหลักของเนื้องอกสมองมีอยู่ 3 วิธี ได้แก่

1. ผ่าตัดเอาเนื้องอกสมองออก แพทย์จะตัดเนื้องอกออกให้มากที่สุด โดยให้กระทบกับผู้ป่วยน้อยที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก บางครั้งเนื้องอกอยู่ไม่ลึก สามารถตัดออกได้หมดและหายขาด บางครั้งเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งใกล้กับสมองส่วนที่ทำหน้าที่สำคัญ เส้นประสาท หรือหลอดเลือด อาจตัดออกไม่ได้ หรือไม่หมด หรือตัดออกไม่ได้ อาจทำได้แค่เพียงนำเอาชิ้นเนื้อเล็ก ๆ มาตรวจเพื่อรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไป

2. การฉายรังสี การฉายรังสีเป็นการทำลายเซลล์เนื้องอก อาจจะใช้การฉายรังสีหลังจากการผ่าตัดเนื้องอกออกบางส่วน หรือฉายรังสีเมื่อการผ่าตัดไม่สามารถทำได้

3. การให้ยาเคมีบำบัด แพทย์จะให้คำแนะนำในการเลือกการรักษาที่เหมาะสมในการรักษาเนื้องอกชนิดนั้น ๆ และในบางกรณีอาจต้องใช้ การรักษาหลาย ๆ แบบร่วมกัน การใช้ยาเคมีบำบัดรักษาเนื้องอกสมองมักใช้หลังจากการผ่าตัด หรือฉายรังสี มีทั้งแบบกินและแบบฉีด การใช้ยาขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอกสมอง

 

ภาวะแทรกช้อนเนื้องอกสมอง

การรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ นั้น อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ก่อนจะทำการรักษาจะต้องผ่านการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่มีความเสี่ยงน้อย และการรักษานั้นปลอดภัยกว่าการปล่อยเนื้องอกสมองไว้โดยไม่ทำการรักษา และมีการตัดสินใจร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการรักษาเนื้องอกและมะเร็งสมอง ทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้นและมีภาวะแทรกซ้อนน้อยลง เช่น การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (Endoscopic Surgery) ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก การผ่าตัดโดยไม่ดมยาสลบเพื่อทำแผนที่สมอง (Awake craniotomy and brain mapping) ช่วยให้การผ่าตัดเอาเนื้องอกสมองออกจากสมองส่วนสำคัญได้โดยปลอดภัย

นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีความก้าวหน้าทางด้านการฉายรังสีที่มีความแม่นยำสูง ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนจากการฉายรังสีน้อยลง และมียาเคมีบำบัดชนิดรับประทานที่มีผลแทรกซ้อนต่ำ มีการตรวจทางรังสีขณะผ่าตัดทำให้สามารถผ่าตัดเนื้องอกสมองได้สมบูรณ์มากขึ้น มีการตรวจเช็กประสาทสรีรวิทยาระหว่างผ่าตัดเพื่อป้องกันความพิการที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดเนื้องอก เป็นต้น

สรุป

โรคเนื้องอกสมองในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่จะป้องกัน วิธีที่ดีที่สุด คือ สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองและคนในครอบครัว เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบตรวจรักษาโดยเร็ว ในระยะที่เนื้องอกมีระยะเล็กอยู่ ผู้ป่วยไม่ควรหมดกำลังใจและปฏิเสธการรักษาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เนื่องจากปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้าทั้งในแง่การผ่าตัด ฉายรังสี หรือให้ยาเคมีบำบัด เนื้องอกสมองหลายชนิดและมะเร็งสมองบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ และถึงแม้ในกรณีที่เนื้องอกสมองนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างน้อยการรักษาจะสามารถช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และลดความทุกข์ทรมานอันเกิดจากโรคได้

 

หากมีคำถาม ข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการปวดหัว ปวดหัวเรื้อรัง โปรดปรึกษาแพทย์

คลิกขอคำปรึกษา

 

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลับยเชียงใหม่ , สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ , คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์โรคระบบประสาทและสมอง

ศูนย์โรคระบบประสาทและสมอง

สถานที่

เวลาทำการ

เบอร์ติดต่อ

แพทย์ประจำศูนย์

แผนกอายุรกรรม

พญ.ศรินยา สัทธานนท์

อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม

แผนกอายุรกรรม

พญ.อาภากร เมืองแดง

อายุรแพทย์ระบบประสาท

แผนกอายุรกรรม

พญ.สาวิกา กิจสมบูรณ์

อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์