ต่อมลูกหมากโต ปัญหาหนักใจของคุณผู้ชาย
27 พฤษภาคม 2567
ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย มีขนาดเท่าผลลิ้นจี่หุ้มรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น หน้าที่สำคัญคือ การสร้างน้ำอสุจิ ผลิตของเหลวเป็นตัวหล่อลื่นและนำส่งเชื้ออสุจิในขณะที่มีการหลั่งของน้ำอสุจิออกมา
โดยทั่วไปต่อมลูกหมากจะหยุดเจริญเติบโตหลังจากอายุ 20 ปี จนกระทั่งอายุประมาณ 45 ปี จะมีการเพิ่มขนาดขึ้นอีกครั้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่อมลูกหมากโต
ต่อมลูกหมากโต
คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่เกินกว่าเกณฑ์ปกติและไปกดเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง ทำให้ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะบ่อยมากขึ้น แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตทุกคนจะมีอาการ บางคนมีอาการน้อยมาก เช่น ความแรงของปัสสาวะลดลงบ้าง ปัสสาวะไม่พุ่ง แต่ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ในขณะที่บางคนอาจอาการหนักถึงขั้นปัสสาวะไม่ออกได้
ต่อมลูกหมากโตเป็นปัญหาสุขภาพที่น่าหนักใจของคุณผู้ชายทั้งหลาย โดยทั่วไปจะพบในอายุ 50 ปีขึ้นไป และกว่าร้อยละ 80 พบในอายุ 70 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะค่อย ๆ โตขึ้น ชายสูงอายุ 2 ใน 5 คน จะมีอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติ โดยปกติอาการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ นอกจากนี้โรคต่อมลูกหมากโตไม่ใช่โรคมะเร็ง และไม่มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีทั้งสองโรคนี้ร่วมกันได้
ต่อมลูกหมากโต ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีสาเหตุและวิธีการป้องกันของโรคอย่างแน่ชัด หากมีอาการที่เสี่ยงหรือเป็นผู้สูงอายุควรรับการตรวจหาโรคเพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และหลีกเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมาในภายหลัง
อาการของต่อมลูกหมากโต
- ถ่ายปัสสาวะบ่อย ห่างกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง
- ปัสสาวะไหลไม่แรง ปัสสาวะไม่พุ่ง
- ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีรอไม่ได้
- ถ่ายปัสสาวะเสร็จแล้วรู้สึกไม่สุด รู้สึกปัสสาวะเหลือค้าง
- ปัสสาวะไหลช้า หรือไหล ๆ หยุด ๆ
- ต้องเบ่งช่วยเวลาถ่ายปัสสาวะ หรือรอนานกว่าจะสามารถปัสสาวะออกมาได้
- ถ่ายปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ลุกขึ้นถ่ายปัสสาวะกลางดึก หลังจากที่หลับไปแล้วมากกว่า 1 - 2 ครั้ง จนรบกวนการพักผ่อน
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นเมื่อละเลยการรักษาที่ถูกต้องและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ต่อมลูกหมากจะมีขนาดใหญ่จนขวางระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจพบได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของผู้ป่วยต่อมลูกหมากทั้งหมด
- ปัสสาวะไม่ออกเลย
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- กระเพาะปัสสาวะเสื่อม
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ไตเสื่อม ภาวะไตวายเฉียบพลัน หรือไตวายเรื้อรัง
ดังนั้นชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจต่อมลูกหมาก และเมื่อมีอาการปัสสาวะผิดปกติก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนและรักษาได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด
การตรวจวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต
- ซักประวัติ สอบถามอาการ ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ อาจให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถาม (IPSS) เพื่อประเมินความรุนแรงของความผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ
- ตรวจต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก เพื่อประเมินลักษณะทางกายภาพของต่อมลูกหมาก และที่สำคัญยังสามารถบอกได้ถึงความผิดปกติที่สงสัยมะเร็งต่อมลูกหมากได้ด้วย
- ตรวจปัสสาวะ เป็นขั้นตอนที่สำคัญ และจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย เพื่อดูว่ามีการอักเสบติดชื้อ มีเม็ดเลือดผิดปกติหรือไม่ และยังบอกถึงความผิดปกติของร่างกายในระบบอื่นได้
- ตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (prostatic specific antigen : PSA) หากตรวจพบเพียงเล็กน้อยแต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณว่าผู้ป่วยกำลังมีภาวะต่อมลูกหมากโต หากพบผลเลือดสูงมากกว่า 4 ng/ml อาจบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อ เคยเข้ารับการผ่าตัด หรือเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่แล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ตัดชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมากเพื่อส่งตรวจหาความผิดปกติเพิ่มเติม
- ตรวจอัลตร้าซาวน์ เพื่อดูขนาดต่อมลูกหมาก
- ตรวจสมรรถภาพการขับถ่ายปัสสาวะ ดูความแรงในการไหลของปัสสาวะ (Uroflowmetry) และจำนวนปัสสาวะที่เหลือค้างหลังจากปัสสาวะหมดแล้ว มีประโยชน์ในการประเมินความรุนแรงและติดตามการรักษา
- การตรวจอื่น ๆ เช่น การส่องกล้องตรวจดูภายในกระเพาะปัสสาวะในกรณีจำเป็นเพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจน
แนวทางการรักษาต่อมลูกหมากโต
ต่อมลูกหมากโตมีวิธีการรักษาหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ ขนาดของต่อมลูกหมาก และปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุ ภาวะแทรกซ้อน หรือโรคประจำตัว
-
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- หากมีอาการไม่มากและไม่รบกวนชีวิตประจำวัน หรือไม่มีอาการ จะแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดการดื่มน้ำในช่วงกลางคืน งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เป็นต้น ถ้าถ่ายปัสสาวะบ่อยเพราะรีบถ่ายเมื่อปวดก็ควรเว้นระยะห่างของการปัสสาวะแต่ละครั้งให้นานขึ้น
-
การใช้ยา
- แพทย์จะประเมินอาการเบื้องต้น หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนและอาการของโรคไม่ได้รุนแรงมาก จะรักษาด้วยการให้ยาเพื่อช่วยคลายการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมาก ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2-3 ชนิด เช่น ยาลดอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อที่บีบรัดท่อปัสสาวะ ลดขนาดต่อมลูกหมาก ลดอาการบวม เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการให้ยาตามความเหมาะสม
-
การผ่าตัด
- การผ่าตัดต่อมลูกหมากวิธีที่ใช้กันมากจะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง (TURP) ซึ่งจะตัดเอาบางส่วนของต่อมลูกหมากหรือตัดออกทั้งหมด มักจะใช้ในกรณีที่มีภาวะแรกซ้อน
- การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ (Water Vapor Therapy) เป็นนวัตกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ โดยใช้เครื่องมือและกล้องสอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังต่อมลูกหมาก เพื่อลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
- การรักษาวิธีอื่น ๆ เช่น การรักษาต่อมลูกหมากโตโดยการใช้คลื่นไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ หรือเลเซอร์ เป็นต้น
หากมีคำถาม ข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรักษาโรคต่อมลูกหมากโต โปรดปรึกษาแพทย์
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หาวิทยาลัยมหิดล , สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์ศัลยกรรม
สถานที่
อาคาร 4 ชั้น 1
เวลาทำการ
08:00 - 17:00 น.
เบอร์ติดต่อ
055-90-9000 ต่อ 520401, 520402