โรคหอบหืด
โรคหอบหืด (Asthma)
โรคหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายใน และจากสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ ส่งผลให้หายใจไม่สะดวกและมีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก โดยเฉพาะตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย และอาจเสียชีวิตได้หากอาการรุนแรง หอบหืดไม่ใช่โรคติดต่อ แต่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้
โรคหอบหืดและโรคหืด เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
โรคหอบหืดและโรคหืดเป็นโรคเดียวกัน บางครั้งเรียกหอบหืดในกรณีที่มีอาการหอบร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการหอบ มีเพียงอาการไอเรื้อรัง หายใจมีเสียงวี้ด ซึ่งเกิดจากการอักเสบในหลอดลบลมและมีหลอดลมตีบ แต่ไม่ถึงขั้นหอบ อาการหอบจะเกิดในผู้ป่วยที่หลอดลมตีบรุนแรง และพบว่าโรคหืดเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่สำคัญ นอกจากกรดไหลย้อน และจมูกอักเสบเรื้อรัง
โรคหอบหืดหรือโรคหืดมีอาการอย่างไร?
หอบหืดจะมีอาการไอต่อเนื่องนาน 2-3 สัปดาห์ หายใจมีเสียงวี้ด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หากเป็นมากอาจทำให้หายใจไม่ออก ไม่สามารถรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายและไม่สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้ ทำให้ระบบหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิต ในที่สุด
สาเหตุของโรคหอบหืดหรือโรคหืด
โรคหอบหืดหรือโรคหืด เกิดจากการอักเสบของหลอดลมเรื้อรัง ร่วมกับการที่หลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ในและนอกครัวเรือน เช่น ฝุ่น และไรฝุ่น รังแคสัตว์ เกสรดอกไม้ รวมทั้งสารก่อมลพิษในอากาศ ควันบุหรี่ ไอระเหยน้ำมัน สารเคมี ก๊าซพิษต่าง ๆ เป็นต้น หรือการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียและเชื้อราในอากาศ นอกจากนี้ยังพบว่าสภาพอากาศที่เย็นและแห้งเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดได้ด้วย
สภาพอากาศเย็นกระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืด?
ในสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง ปราศจากความชื้น จะกระตุ้นให้หลอดลมเกิดการหดตัว ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบากและมีอาการหอบหืดกำเริบได้
วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคหอบหืด
อาการสำคัญที่เป็นสัญญาณของโรคหอบหืด มีทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่ ไอเรื้อรัง หายใจมีเสียงวี้ด เหนื่อยหอบ หากมีอาการทั้ง 3 อย่างนี้ แนะนำควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคอีกครั้ง
การวินิจฉัยโรคหอบหืด
แพทย์จะวินิจฉัยโรคหอบหืดโดยซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการทดสอบสมรรถภาพปอดซึ่งมีความแม่นยำในการวินิจฉัยภาวะหลอดลมตีบจากหอบหืด และวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ ในขณะที่ผลเอกซเรย์ปอดของผู้เป็นโรคหอบหืดมักจะไม่พบความผิดปกติใด ๆ ที่ชัดเจน
การดูแลผู้ป่วยโรคหอบหืด
ยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดหรือโรคหืด ได้แก่ ยากิน ยาฉีดและยาสูดพ่น ยากินจะออกฤทธิ์รักษาอาการหอบหืดได้ช้ากว่ายาสูดพ่น เพราะยากินต้องผ่านกระบวนการดูดซึมในร่างกาย ในขณะที่ยาพ่นจะเข้าถึงหลอดลมได้ทันทีที่พ่นเข้าไป และมีผลข้างเคียงต่ำกว่า แต่ต้องอาศัยเทคนิคการใช้ยาที่ถูกต้อง ยาพ่นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาควบคุมโรค และยาบรรเทาอาการ
- ยาควบคุมโรค เป็นยาสูดพ่นที่มีองค์ประกอบเป็นสเตียรอยด์ ช่วยลดการอักเสบของหลอดลม ต้องใช้อย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีอาการ
- ยาบรรเทาอาการ เป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้เมื่อมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน หรือเมื่อมีอาการหายใจลำบากเกิดขึ้น
ที่สำคัญผู้ป่วยควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ ลดน้ำหนักในกรณีที่อ้วน หลีกเลี่ยงความเครียด หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และมลพิษในอากาศ งดสูบบุหรี่เพราะจะกระตุ้นให้โรคหอบหืดกำเริบ
โรคหอบหืดกับข้อควรระวังในการใช้ยา
- การปรับขนาดยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ อย่าปรับยาหรือหยุดเอง แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว
- ผู้ป่วยต้องพกยาฉุกเฉินติดตัวไว้ตลอด เพื่อบรรเทาอาการเมื่อหอบหืดกำเริบ และคนรอบข้างควรรู้ตำแหน่งที่คนไข้เก็บยาไว้ หากฉุกฉินคนรอบข้างจะได้ช่วยเหลือทัน